แก๊งคอลเซ็นเตอร์เป็นภัยอันตรายที่มุ่งเป้าหมายไปยังกลุ่มผู้สูงอายุ เนื่องจากพวกเขาอาจไม่ทันสมัยกับเทคโนโลยีหรือข้อมูลใหม่ ๆ ทำให้ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงได้ง่าย การป้องกันและให้ความรู้แก่ผู้สูงอายุเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยปกป้องพวกเขาจากการเสียทรัพย์สินและข้อมูลส่วนตัว ต่อไปนี้คือ 3 วิธีที่จะช่วยป้องกันผู้สูงอายุจากแก๊งคอลเซ็นเตอร์
1. ไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวกับบุคคลที่ไม่รู้จัก
ผู้สูงอายุไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว เช่น ชื่อ-นามสกุล เลขบัตรประชาชน หมายเลขบัญชีธนาคาร รหัส PIN หรือรหัส OTP ให้กับบุคคลอื่นที่โทรเข้ามา แม้ว่าผู้โทรจะอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร ตำรวจ หรือหน่วยงานราชการก็ตาม และไม่โอนเงินให้ใครโดยไม่ตรวจสอบข้อมูลให้แน่ใจ หากมีการขอให้โอนเงิน ให้ตรวจสอบข้อมูลกับบุคคลที่เชื่อถือได้ก่อน เช่น ลูกหลาน หรือธนาคารโดยตรงเท่านั้น
2. วางสายทันทีเมื่อรู้สึกสงสัย
หากรู้สึกสงสัยหรือไม่สบายใจกับการโทรเข้ามา ให้วางสายทันที ไม่ว่าอีกฝั่งจะกระทำการใดๆ เช่น การกดปุ่ม หรือทำตามขั้นตอนที่ผู้โทรแนะนำ เป็นต้น เเละไม่ควรพูดคุยต่อความยาวสาวความยืด เป็นระยะเวลานานๆ เพื่อเปิดทางแก่มิจฉาชีพ หลังจากวางสาย ให้ปรึกษาบุคคลที่เชื่อถือได้ เช่น ลูกหลาน เพื่อนบ้าน หรือญาติสนิท เพื่อขอคำแนะนำ
3. เพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์
- อธิบายวิธีการของแก๊งคอลเซ็นเตอร์
บอกให้ผู้สูงอายุทราบถึงวิธีการต่างๆ ที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ในการหลอกลวง เช่น การโทรแจ้งเรื่องหนี้สินที่ไม่มีอยู่จริง อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือธนาคาร หรือหลอกลวงเกี่ยวกับการลงทุน ผู้สูงอายุควรได้รับข้อมูลว่าเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่แท้จริงจะไม่ขอข้อมูลส่วนตัวทางโทรศัพท์ เช่น เลขบัตรประชาชนหรือข้อมูลบัญชีธนาคาร และไม่ควรรีบให้ข้อมูลหากมีการโทรติดต่อในลักษณะนี้ - แนะนำให้ระวังข้อความหรืออีเมลที่น่าสงสัย พร้อมสอนวิธีตรวจสอบข้อมูลก่อนทำธุรกรรม
สอนให้ผู้สูงอายุระวังข้อความหรืออีเมลที่ขอข้อมูลส่วนตัว หรือลิงก์ที่น่าสงสัย และรู้จักวิธีตรวจสอบข้อมูลก่อนทำธุรกรรมเป็นสิ่งสำคัญ เช่น หากมีการโทรเข้ามาแจ้งให้โอนเงิน ผู้สูงอายุควรตั้งสติและโทรกลับไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อตรวจสอบข้อมูลจริง ๆ ก่อนเสมอ รวมถึงการเก็บหมายเลขโทรศัพท์ของธนาคารหรือหน่วยงานรัฐที่ไว้ใจได้ จะช่วยให้พวกเขาสามารถตรวจสอบได้ทันทีเมื่อมีข้อสงสัย - แนะนำให้ติดตามข่าวสาร
ให้ผู้สูงอายุติดตามข่าวสารเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เพื่อให้ทราบถึงรูปแบบการหลอกลวงที่เปลี่ยนแปลงไป
4. มีสติ ตรวจสอบข้อมูลก่อนตัดสินใจ
หากยังไม่แน่ใจในสิ่งที่เกิดขึ้น หรือเรื่องราวที่คอลเซ็นเตอร์แจ้งมา ให้ตั้งสติและพิจารณาข้อมูลอย่างรอบคอบก่อนตัดสินใจ หรือให้ปรึกษาผู้รู้ เช่น ลูกหลาน หรือเพื่อนบ้าน ที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ หากไม่แน่ใจในข้อมูลที่ได้รับ ให้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมจากแหล่งที่น่าเชื่อถือ เช่น ธนาคาร หรือหน่วยงานราชการโดยตรง อย่าทำตามที่อีกฝ่ายบอกโดยเด็ดขาด
สิ่งที่บุตรหลานหรือผู้ดูแลใกล้ชิดควรทำ
- สอนวิธีการป้องกัน: สอนวิธีการป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์ให้ผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ
- ติดตั้งแอปพลิเคชันสำหรับบล็อกสายโทรเข้า: ช่วยป้องกันไม่ให้มีสายโทรเข้าที่ไม่ต้องการ
- ตรวจสอบบัญชีธนาคารเป็นประจำ: ตรวจสอบบัญชีธนาคารของผู้สูงอายุเป็นประจำ เพื่อตรวจสอบความผิดปกติ
- สร้างกลุ่มสนทนา: สร้างกลุ่มสนทนาในครอบครัวเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการป้องกันแก๊งคอลเซ็นเตอร์
หากผู้สูงอายุถูกหลอกลวงให้โอนเงินไปแล้ว ควรรีบแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทันที และติดต่อธนาคารเพื่อขอความช่วยเหลือในการระงับการทำธุรกรรม ทั้งนี้การให้ความรู้ ความเข้าใจ เป็นการสร้างกลไกการป้องกันภายในครอบครัวและสังคมจะช่วยให้ผู้สูงอายุมีความมั่นใจและปลอดภัยจากภัยอันตรายของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ได้