การตรวจสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุมีความจำเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากร่างกายมีการเสื่อมสภาพตามวัย การตรวจสุขภาพอย่างละเอียดเป็นประจำจะช่วยให้ผู้สูงอายุสามารถค้นหาความผิดปกติของโรคต่างๆ ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และสามารถป้องกันหรือรักษาโรคต่างๆ ได้ทันท่วงที ส่งผลให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
1. ตรวจตา
พออายุมากขึ้น จะเพิ่มโอกาสในการเกิดโรคตาได้ เช่น โรคต้อหิน หรือต้อกระจก ต้อหิน ภาวะประสาทตาเสื่อม โรคจอประสาทตาจากเบาหวาน เป็นต้น ผู้สูงอายุที่อายุ 60-64 ปี ควรตรวจตาทุก 2-4 ปี หากอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 1-2 ปี
2. ตรวจการได้ยิน
เพื่อดูว่าเกิดอาการหูหนวก หูตึง หรือภาวะประสาทหูเสื่อม หรือไม่ เนื่องจาก ภาวะหูหนวก หูตึง สามารถพบได้บ่อยมากประมาณร้อยละ 25-35 ในผู้สูงอายุ และพบมากขึ้นตามอายุที่เพิ่มขึ้น
3. ตรวจสุขภาพช่องปาก
ปัญหาสุขภาพช่องปากที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ คือ การสูญเสียฟัน ซึ่งมักเกิดจากฟันผุ รากฟันผุ หรือปริทันต์อักเสบ ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงที่พบได้ในผู้สูงอายุ เช่น ภาวะเหงือกร่น ปากแห้ง น้ำลายน้อย หรือความสามารถในการดูแลตัวเองที่ลดลง ทำให้ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงต่อการสูญเสียฟันได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถตรวจหาสัญญาณเริ่มต้นของโรคมะเร็งช่องปากและโรคอื่นๆ ได้ ดังนั้นจึงแนะนำการตรวจคัดกรองสุขภาพช่องปากในผู้สูงอายุ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
4. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (เฉพาะเพศหญิง)
เป็นการตรวจเพื่อค้นหาก้อนเนื้องอกผิดปกติที่อาจพบได้ในระบบอวัยวะสืบพันธุ์ ซึ่งอุบัติการณ์ของโรคมะเร็งพบสูงขึ้นตามอายุ ปกติแล้วการตรวจภายในและการตรวจแปปสเมียร์ (Pap smear) เป็นประจําจะช่วยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยแนะนำให้ตรวจทุก 3 ปีจนถึงอายุ 65 ปี หากมีผลการตรวจที่ปกติติดต่อกันสองปี และหากผลการตรวจปกติติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี สามารถหยุดตรวจได้ นอกจากนี้การตรวจภายในยังช่วยตรวจวินิจฉัย ก้อนที่รังไข่หรือมดลูก รวมไปถึงการตรวจหาสาเหตุและวินิจฉัยกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ที่พบบ่อยมากขึ้นในผู้สูงอายุได้อีกด้วย
5. ตรวจอุจจาระ
เป็นการตรวจเพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ ซึ่งนับเป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศไทย อายุที่มากขึ้นหรือการมีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งลําไส้ใหญ่ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สําคัญ
สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ควรตรวจอุจจาระปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง
6. การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม (เฉพาะเพศหญิง)
มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบเป็นอันดับ 1 ในสตรีไทย ผู้หญิงอายุระหว่าง 40-69 ปีที่ไม่มีอาการผิดปกติ ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำ ร่วมกับตรวจโดยแพทย์หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ได้รับการฝึกอบรมทุก 1 ปี และตรวจด้วยเครื่องถ่ายภาพรังสีเต้านม (mammography) ทุก 1-2 ปี โดยตรวจทางรังสีสามารถตรวจพบก้อนผิดปกติได้ตั้งแต่ก้อนขนาดเล็กที่ยังไม่สามารถคลำพบได้ ผู้สูงอายุที่ อายุ60-69 ปี ควรตรวจเต้านมทุกปี อายุ 70 ปีขึ้นไป ควรตรวจตามความเหมาะสมตามคำแนะนำของแพทย์
7. การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก (ผู้ชาย)
ในผู้ชายอายุมากกว่า 50 ปี หรือผู้ชายอายุมากกว่า 40 ปีที่มีประวัติโรคมะเร็งต่อมลูกหมากในครอบครัว อาจทำการตรวจทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination) ร่วมกับตรวจเลือดเพื่อดูระดับ Prostate-Specific Antigen (PSA) เพื่อคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก อย่างไรก็ตามแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนการตรวจ ถึงเรื่องประโยชน์และปัจจัยเสี่ยงในผู้ป่วยแต่ละคน
8. ตรวจเลือด
ตรวจเพื่อวัดระดับน้ำตาล ดูความเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน ตรวจไขมันเพื่อดูความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจอุดตันและเส้นเลือดในสมองตีบ ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเพื่อดูภาวะโลหิตจาง ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกร็ดเลือด ตรวจการทำงานของไตและเอนไซม์ตับ ผู้สูงอายุที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปควรตรวจทุกปี
9. การตรวจความหนาแน่นของกระดูก
เป็นการตรวจวัดความหนาแน่นของกระดูกพรุน ซึ่งเกิดขึ้นได้ในเพศชายและเพศหญิง แต่เพศหญิงในวัยหมดประจำเดือนจะมีความเสี่ยงสูงมากกว่า โรคกระดูกพรุนนี้อาจนำมาซึ่งภาวะกระดูกหักจากอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงได้ ดั้งนั้น ผู้สูงอายุควรได้รับการตรวจความหนาแน่นของกระดูกเพื่อดูมวลและความแข็งแรง สําหรับผู้หญิงอายุมากกว่า 65 ปี หรือผู้ชายอายุมากกว่า 70 ปี ควรได้รับการตรวจ
ทั้งนี้อาจจะมีการ การตรวจอื่นๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เอกซเรย์ปอด เดินสายพาน ซึ่งพิจารณาตรวจตามความเหมาะสม แนะนำปรึกษาแพทย์ที่ดูแลประจำ หรือแพทย์เฉพาะทาง เพื่อลงรายละเอียดการตรวจคัดกรองในแต่ละบุคคลและค้นหาปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้สูงอายุและสามารถรับการรักษาได้ทันท่วงที
ที่มาข้อมูล
https://www.petcharavejhospital.com/th/Article/article_detail/elderly-health-check
https://www.paolohospital.com/th-TH/kaset/Article/Details/ผู้สูงอายุ–ไม่ควรละเลยการตรวจสุขภาพ
ที่มาของรูป : www.freepik.com