สํานักงานสถิติแห่งชาติ รายงานว่า เมื่อสิ้นสุด ปี พ.ศ. 2564 สังคมไทยมีสัดส่วนของผู้ที่มี อายุ 60 ปีขึ้นไปร้อยละ 19.6 ของจํานวนประชากรทั้งหมดหรือมีจำนวนกว่า 13 ล้านคน การสำรวจและการเตรียมตัวเองเพื่อย่างเข้าสู่ชีวิตช่วงการเกษียณเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง หากเรามีการวางแผนที่ดีแล้ว เราจะสามารถใช้ชีวิตหลังการเกษียณได้อย่างมีความสุข เช่นกัน
การวางแผนสู่การเกษียณอย่างมีความสุข เริ่มต้นจากประเมินสถานการณ์หลังเกษียณของตนเอง ดังนี้
- รู้รายรับต่อเดือน แหล่งที่มา และความมั่นคงของรายรับ เช่น
- ข้าราชการ จะได้รับบำเหน็จหรือบำนาญ และเงินจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)
- พนักงานบริษัทเอกชนจะได้รับเงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และกองทุนประกันสังคม
- เงินออมที่ได้เก็บหอมรอมริบมาตลอดชีวิตการทำงาน บวกกับผลประโยชน์จากการนำเงินไปลงทุน
- รู้รายจ่ายต่อเดือน เทียบกับรายรับที่คาดว่าจะได้รับ
ส่วนใหญ่แล้ว ค่าใช้จ่ายประจำหลังเกษียณมักจะลดลง ซึ่งประเมินกันว่า ค่าใช้จ่ายต่อเดือนหลังเกษียณจะประมาณ 70% – 80% ของค่าใช้จ่ายต่อเดือนก่อนเกษียณ เช่น หากก่อนเกษียณมีค่าใช้จ่ายต่อเดือน 30,000 บาท ค่าใช้จ่ายหลังเกษียณจะประมาณ 21,000 – 24,000 บาท ทั้งนี้ ยังไม่รวมเงินเฟ้อ และค่ารักษาพยาบาลที่อาจเพิ่มขึ้นตามวัย
ดังนั้น การเริ่มต้นบันทึกรายรับ-รายจ่ายเสียตั้งแต่วันนี้ จะช่วยให้คุณสามารถวิเคราะห์ได้ว่า ในปัจจุบัน มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนเท่าไหร่ และค่าใช้จ่ายรายการใดจะลดลงหรือหมดไป เมื่อเกษียณแล้ว
- รู้หลักประกันความมั่นคงทางการเงิน
เช่น สวัสดิการที่เบิกได้ และความคุ้มครองของประกันสุขภาพ เพื่อเป็นหลักประกันว่าหากเกิดเหตุที่ไม่คาดฝันจะไม่กระทบกับจำนวนเงินที่จำเป็นสำหรับใช้จ่ายประจำ หากตรวจสอบแล้วพบว่าไม่ครอบคลุมเพียงพอ ควรพิจารณาออมหรือซื้อประกันเพิ่มเติม
- รู้ปัจจัยที่อาจมีผลต่อรายรับ-รายจ่าย
อาทิ อัตราเงินเฟ้อ ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่อาจกระทบต่ออัตราดอกเบี้ย จำนวนปีที่คาดว่าจะมีชีวิตอยู่หลังเกษียณ ลูกหลานที่อาจนำพาความเดือดเนื้อร้อนใจมาให้ เป็นต้น
เชื่อว่าหลายท่านได้ศึกษาข้อมูลกันไปบ้างแล้ว แต่สำหรับท่านที่ยังไม่ได้เริ่มศึกษา รีบกันเลยนะคะ เพื่อความสุขกายใจในช่วงการเกษียณ
ที่มาของข้อมูล: ศูนย์ควบคุมผู้ใช้บริการทางการเงิน ธนาคมรแห่งประเทศไทย
https://www.1213.or.th/th/moneymgt/retire/Pages/retire.aspx
รูปประกอบจาก: https://www.freepik.com