ไม่ว่าในตอนนี้คุณจะเป็นผู้ที่กำลังอยู่ในช่วงอายุที่ใกล้คำว่า “ผู้สูงวัย” หรือเป็นญาติคนสูงวัย เราเชื่อว่ามีหลาย ๆ คนกำลังเกิดข้อสงสัยมากมายกับเรื่องของ “เบี้ยผู้สูงอายุ” ยิ่งเป็นครอบครัวที่เพิ่งจะมีโอกาสได้ดูแลผู้สูงวัยเป็นครั้งแรก ๆ อาจไม่มีประสบการณ์ในเรื่องนี้ และมีผู้สูงอายุจำนวนหนึ่งที่พลาดโอกาสในส่วนนี้ไป เนื่องจากเข้าไม่ถึงข้อมูลสำคัญจากหน่วยงานรัฐ ต่อจากนี้เราจะพาทุกคนมาทำความเข้าใจ กับเบี้ยผู้สูงอายุให้มากยิ่งขึ้น ทุกข้อสงสัยจะถูกแถลงไขให้กระจ่างในบทความนี้
ทำความรู้จักกับ “เบี้ยผู้สูงอายุ” ว่ามีเงื่อนไขอย่างไรกันบ้าง ?
เริ่มแรกเราต้องขออนุญาตอธิบายในส่วนของ “เบี้ยผู้สูงอายุ” หรือ “เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ” เพื่อความเข้าใจให้มากขึ้นกว่านี้อีกสักหน่อย โดยเบี้ยผู้สูงอายุเป็นสวัสดิการของรัฐ มีเอาไว้เพื่อดูแลผู้สูงอายุภายในประเทศไทย เงื่อนไขคือ เป็นประชากรสัญชาติไทย และ มีอายุมากกว่า 60 ปีบริบูรณ์ เพียงเท่านั้นเป้าหมายของสวัสดิการในส่วนนี้ มีขึ้นมาเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนมากร่างกายไม่พร้อมต่อการทำงานหนักเหมือนแต่ก่อน อาจทำให้รายได้ต่อเดือนนั้นไม่เพียงพอ ซึ่งเงินส่วนนี้ก็จะเข้ามาแบ่งเบาภาระในส่วนนั้น
เบี้ยผู้สูงอายุมีวิธีการลงทะเบียนอย่างไรบ้าง ?
ในการดำเนินการลงทะเบียนเพื่อขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ สามารถดำเนินการได้ใน 3 สถานที่ด้วยกันคือ สำนักงานเขตภายในกรุงเทพ ฯ , กระทรวงการพัฒนาสังคม และความมั่นคงของมนุษย์ เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และ องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นในภูมิลำเนา ในการลงทะเบียนเพื่อสามารถดำเนินการได้ตั้งแต่ช่วงอายุ 59 ปีบริบูรณ์ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม ในปีนั้น ๆ โดยสามารถดำเนินการได้ด้วยตนเอง หรือ ใช้การมอบอำนาจให้ญาติดำเนินการแทน เอกสารที่จะต้องเตรียมก็จะมีดังต่อไปนี้
- สำเนาทะเบียนบ้านของผู้สูงอายุ 1 ชุด
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้สูงอายุ 1 ชุด
- สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากที่ต้องการรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ 1 ชุด
- หนังสือมอบอำนาจ (กรณีผู้สูงอายุไม่สามารถมาดำเนินการด้วยตนเองได้)
ไขข้อสงสัย สรุปแล้ว เบี้ยผู้สูงอายุ ออกวันไหนบ้าง ?
หลังจากดำเนินการลงทะเบียนอย่างถูกต้องไปแล้ว รายชื่อของผู้มีสิทธิ์รับเบี้ยผู้สูงอายุ จะปรากฏอยู่ในกรมบัญชีกลาง ในกรณีที่ดำเนินการลงทะเบียนในช่วงอายุ 59 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเบี้ยผู้สูงอายุครั้งแรกในเดือนตุลาคมในปีถัดไป ซึ่งในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุนั้นจะดำเนินการจ่ายในวันที่ 10 ของทุก ๆ เดือน แต่ในกรณีที่ตรงกับวัน เสาร์ อาทิตย์ หรือ วันหยุดนักขัตฤกษ์ ก็จะมีการเลื่อนจ่ายเงินในเวลาทำการ โดยจำนวนเงินที่ได้รับนั้นก็ขึ้นอยู่กับช่วงอายุของผู้สูงอายุ ดังนี้
- อายุ 60-69 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพ 600 บาท/เดือน
- อายุ 70-79 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพ 700 บาท/เดือน
- อายุ 80-89 ปี ได้รับเบี้ยยังชีพ 800 บาท/เดือน
- อายุ 90 ปีขึ้นไป ได้รับเบี้ยยังชีพ 1,000 บาท/เดือน
สำหรับผู้ที่มีญาติผู้ใหญ่ที่มีอายุครบ 59 ปีบริบูรณ์ในปีนี้ อย่าลืมพาท่านไปดำเนินการเพื่อลงทะเบียนรับเบี้ยผู้สูงอายุประจำปี 2567 เงินส่วนนี้เป็นสวัสดิการที่ประชาชนในประเทศไทยทุกคนที่ตรงตามเงื่อนไขพึงได้รับ แม้จะเป็นผู้ที่เคยรับราชการ ที่ได้รับเงินบำนาญตลอดชีพ ก็มีสิทธิ์ที่จะรับสวัสดิการในส่วนนี้ ซึ่งที่จริงแล้วสวัสดิการของผู้สูงอายุยังมีอีกมากมาย นอกจากผู้สูงอายุที่จะต้องติดตามข่าวสาร ผู้ที่รับหน้าที่ดูแลผู้สูงอายุเองก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจถึงข้อมูลเหล่านี้เอาไว้ เพื่อให้ช่วงเวลาในวัยสูงอายุของพวกท่าน เป็นช่วงเวลาที่ดีที่สุด