โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด เป็นภาวะฉุกเฉินที่ร่างกายสูญเสียความร้อนมากเกินไป อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเกิน 40 องศาเซลเซียส ผู้สูงอายุมักมีความเสี่ยงมากกว่าวัยอื่น เนื่องจากร่างกายมีกลไกในการระบายความร้อนที่ด้อยลง ประกอบกับมักมีโรคประจำตัว หรือบางรายไม่สามารถดูแลตนเองได้
สัญญาณเตือนฮีทสโตรกในผู้สูงอายุ:
- ตัวร้อนจัด หน้าแดง เหงื่อไม่ออก
- กระหายน้ำมาก วิงเวียน ปวดศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็ว อาเจียน
- กล้ามเนื้อเกร็ง ชัก มึนงง สับสน รูม่านตาขยาย
- ความรู้สึกตัวลดลง อาจหมดสติ หัวใจเต้นเร็วแต่แผ่วเบา
วิธีปฐมพยาบาลเบื้องต้น:
- นำผู้สูงอายุเข้าที่ร่ม อากาศถ่ายเทสะดวก ถอดเสื้อผ้าที่รัดแน่นออก
- เช็ดตัวด้วยผ้าชุบน้ำเย็น ประคบตามซอกลำตัว คอ รักแร้ เชิงกราน และศีรษะ
- ใช้พัดลมเป่าเพื่อระบายความร้อน
- ให้ผู้สูงอายุดื่มน้ำเย็นหรือน้ำเกลือแร่
- รีบนำส่งโรงพยาบาลโดยเร็วที่สุด
วิธีป้องกันฮีทสโตรกในผู้สูงอายุ:
- หลีกเลี่ยงการอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
- สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- อาบน้ำเย็นบ่อยๆ
- อยู่ในสถานที่ที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
- ญาติหรือผู้ดูแลควรติดตามอาการของผู้สูงอายุอย่างสม่ำเสมอ
จะเห็นได้ว่า โรคฮีทสโตรก (Heat Stroke) หรือโรคลมแดด เนื่องไม่ใช่โรคไกลตัว จริงๆแล้วสามารถเกิดได้กับทุกช่วงวัย เนื่องจากประเทศไทยเป็นเมืองร้อน และยิ่งหน้าร้อนจะมีอากาศร้อนจัดเป็นพิเศษ อาจทำให้มีผู้ที่พบเจอกับโรคฮีทสโตรกหรือโรคลมแดดมากกว่าปกติ ดังนั้นเราควรป้องกันตัวเองด้วยการหมั่นสังเกตอาการเมื่อออกแดด และปฏิบัติตามคำแนะนำที่กล่าวไปเบื้องต้นเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดฮีทสโตรก หรือโรคลมแดดนะคะ
ที่มาข้อมูล : https://www.dop.go.th/th/gallery/1/4116
https://www.hfocus.org/content/2023/03/27389