สุขภาพเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสุขภาพของผู้สูงวัย เพราะยิ่งอายุมากขึ้น ร่างกายยิ่งอ่อนแอลง มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพที่มากขึ้น ดังนั้นเพื่อเป็นกันป้องกันโรคร้ายที่เกิดขึ้น การตรวจสุขภาพผู้สูงอายุจึงเป็นสิ่งสำคัญที่บุตรหลานผู้ดูแลใกล้ชิดควรให้ความใส่ใจ
ทั้งนี้การตรวจสุขภาพผู้สูงอายุในแต่ละด้านก็มีความถี่ในการตรวจที่แตกต่างกัน เพื่อเป็นการลดปัญหาสุขภาพด้านต่างๆ และตรวจที่ถูกต้องมาดูกันว่าควรตรวจอะไรบ้าง และตรวจบ่อยมากน้อยแค่ไหน
1. ตรวจอุจจาระ ควรตรวจปีละ 1 ครั้ง เพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ และลำไส้ตรง
2. ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ผู้หญิงอายุ 30-65 ปี ควรตรวจทุกๆ 2-3 ปี หากมีอายุ 60 ขึ้นไป ให้ตรวจตามความเหมาะสม
3. ตรวจการได้ยิน ควรตรวจคัดกรองการได้ยินทุกๆ 2-3 ปี
4. ตรวจช่องปาก ควรตรวจช่องปากอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง
5. ตรวจเต้านมในสตรี ผู้หญิงอายุ 40-65 ปี ควรตรวจเต้านมทุกๆปี อายุ 65 ปีขึ้นไป ตรวจตามคำแนะนำของแพทย์
6. ตรวจคัดกรองโรคตา เพื่อเป็นการตรวจหาต้อกระจกและต้ออื่นๆ อายุ 40-64 ปี ควรตรวจตาทุกๆ 2-4 ปี และอายุ 65 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุก 1-2 ปี
7. ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด ตรวจความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดเพื่อดูภาวะโลหิตจาง ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาวและเกล็ดเลือด แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 70 ปีขึ้นไปตรวจเป็นประจำทุกปี
8. ตรวจความหนาแน่นของมวลกระดูก ผู้หญิงควรตรวจมวลกระดูกเมื่ออายุ 65 ปีขึ้นไป ส่วนผู้ชายควรตรวจเมื่ออายุ 70 ปีขึ้นไป
9. ตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ผู้ที่มีอายุ 45 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุกๆ 3 ปี เพื่อตรวจความเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวาน หากมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงจะได้เข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะยิ่งอายุเพิ่มมากขึ้นอาจเป็นการยากต่อการป้องกันโรคเบาหวานในอนาคต
10. ตรวจระดับไขมันในเลือด ควรตรวจทุก 5 ปี หรือตามคำแนะนำของแพทย์ เพื่อหาค่าระดับคอเลสเตอรอลและไตรกลีเซอไรด์ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจ
11. ตรวจตา อายุ 60 ปีขึ้นไป ควรตรวจทุกๆปี
การตรวจสุขภาพควรเตรียมความพร้อมก่อนเข้าตรวจ ทั้งงดน้ำ งดอาหาร ก่อนตรวจประมาณ 8 – 10 ชั่วโมง พื่อตรวจวัดระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง เพราะการนอนน้อยมีผลทำให้ความดันโลหิตสูงกว่าปกติ ที่สำคัญเลยหากผู้สูงอายุมีโรคประจำตัว หรือมียาที่กินอยู่ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบล่วงหน้าด้วย
ทั้งนี้การตรวจสุขภาพเป็นสิ่งที่ทุกคนควรใส่ใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเข้าสู่วัยสูงอายุแล้ว ยิ่งต้องให้ความสำคัญต่อการตรวจสุขภาพ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว โรคที่เกิดกับ “ผู้สูงอายุ” มักมีความรุนแรงกว่าการเกิดในผู้ที่อายุยังน้อย อีกทั้งบางโรคจะไม่มีสัญญาณใดๆ บ่งชี้ให้ผู้ป่วยเห็นหรือสังเกตตนเองได้เอง การจะตรวจพบรอยนั้นจึงต้องอาศัยเครื่องมือแพทย์และแพทย์เฉพาะทางทำการตรวจให้
ที่มาของรูปภาพ : https://www.freepik.com/