หนึ่งในโรคที่มักเกิดในผู้สูงวัย คือ โรคอัลไซเมอร์ ซึ่งหากสังเกตว่าผู้สูงอายุในบ้านมีอาการหลงลืม สับสนเวลา สถานที่ และไม่สามารถรับรู้อะไรใหม่ๆได้ ส่วนหนึ่งเป็นสัญญาณเตือนของการเป็นโรคอัลไซเมอร์ ทั้งนี้ข้อควรสังเกตที่สำคัญสำหรับผู้ใกล้ชิด บุตรหลานที่ดูแลผู้สูงอายุ ควรสังเกตว่าอาการหลงลืมตามวัยกับโรคอัลไซเมอร์ มีความแตกต่างกันอยู่ค่ะ มาดูว่าสังเกตอย่างไรได้บ้าง
อาการหลงลืมโดยทั่วไปของผู้สูงอายุ เกิดในวัยตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป จะมีอาการคิดช้า ต้องใช้เวลาในการนึก ตัดสินใจแย่ลง ส่วนอาการของโรคอัลไซเมอร์ มักจะจำไม่ได้เลยว่าเหตุการณ์นั้นๆเกิดอะไรขึ้น นึกอย่างไรก็นึกไม่ออก ลืมแม้กระทั่งทักษะการใช้เครื่องมือในชีวิตประจำวัน หรือแม้กระทั่งลืมชื่อคนในครอบครัว ผู้ป่วยจึงมักมีอาการ หลงลืม ไม่สามารถทำในสิ่งที่เคยทำได้ อย่างการหลงทางในเส้นทางเดิมๆ ที่เคยใช้ในชีวิตประจำวัน กลับบ้านไม่ถูก หรือไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม โดยเฉพาะงานที่ต้องใช้ความคิด ความประณีต ลืมชื่อคนใกล้ชิด ลืมเหตุการณ์ที่ผ่านมาหรือลืมเพียงบางส่วน นอกจากอาการหลงลืม ผู้ป่วยจะมีปัญหาด้านอารมณ์ เช่น หงุดหงิดง่าย ซึมเศร้า
ทั้งนี้อาการหลงลืมของโรคอัลไซเมอร์ จะมีการดำเนินโรคอย่างช้าๆ แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยอาการแรกเริ่มที่สำคัญของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ คือ การสูญเสียความจำระยะสั้น ซึ่งเป็นอาการที่ใกล้เคียงกับภาวะความจำเสื่อมตามธรรมชาติในผู้สูงอายุ แต่เมื่อเวลาผ่านไปผู้ป่วยร้อยละ 80-90 จะมีอาการทางพฤติกรรมหรือทางจิตเวชร่วมด้วย
อาการของโรคอัลไซเมอร์ แบ่งได้เป็น 3 ระยะ
1. ระยะแรก
ความจำถดถอยจนตัวเองรู้สึกได้ ชอบถามซ้ำ พูดซ้ำๆ เรื่องเดิม สับสนทิศทาง เริ่มเครียด อารมณ์เสียง่ายและซึมเศร้า
2. ระยะกลาง
อาการชัดเจนขึ้น ความจำแย่ลงอีก เดินออกจากบ้านไปโดยไม่มีจุดหมาย พฤติกรรมเปลี่ยนไปมาก
3. ระยะสุดท้าย
เป็นระยะรุนแรง มีอาการตอบสนองต่อสิ่งรอบข้างน้อยลง สุขภาพทรุดโทรมลงคล้ายผู้ป่วยติดเตียง รับประทานได้น้อยลง การเคลื่อนไหวน้อยลงหรือไม่เคลื่อนไหวเลย ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ ปัสสาวะหรืออุจจาระเล็ด เนื่องจากกลั้นไม่อยู่ และสูญเสียความสามารถในการใช้ชีวิตประจำวัน ต้องพึ่งพาผู้อื่นในเรื่องง่ายๆ
สำหรับ โรคสมองเสื่อม เป็นความถดถอยในการทำงานของสมอง เกิดจากการสูญเสียเซลล์สมองหลายส่วนซึ่งพบได้ในผู้สูงอายุ โดยเริ่มจากส่วนใดส่วนหนึ่งในการทำงานของสมองขั้นสูง 6 ด้าน คือ ด้านสมาธิ ด้านการคิด ตัดสินใจ และการวางแผน ด้านความจำ ด้านการใช้ภาษา ด้านมิติสัมพันธ์ ด้านการเข้าสังคม ถ้าหากการทำงานของสมอง 1 ใน 6 ด้าน อย่างใดอย่างหนึ่งสูญเสียการทำงานไปหรือเสียมากถึงระดับที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย เราเรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะสมองเสื่อม
การรักษาโรคอัลไซเมอร์ แพทย์จะให้ทานยา แต่ทั้งนี้ไม่มียาชนิดใดที่รักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาดได้ แต่จะช่วยชะลอโรคที่เป็นอยู่ให้สมองเสื่อมช้าลง ดังนั้นการตรวจพบอาการสมองเสื่อมได้เร็ว ผลการรักษาก็จะดีกว่า และช่วยชะลอความเสื่อมได้มากกว่า
ทั้งนี้สำหรับการดูแลผู้ป่วยอัลไซเมอร์ ผู้ดูแลจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค อาการและอาการแสดง พฤติกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้น และการดูแลที่เป็นพิเศษ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการดูแลผู้ป่วยในระยะยาวได้อย่างถูกต้อง สิ่งใดก่อให้เกิดอารมณ์หรือความไม่พอใจแก่ผู้ป่วย ควรหาสาเหตุแก้ไขหรือหลีกเลี่ยง จะช่วยลดความเครียดแก่ผู้ป่วย และกระตุ้นให้ผู้ป่วยดูแลตนเองให้ได้มากที่สุด
อย่างไรก็ตามก่อนจะเข้าสู่ช่วงผู้สูงอายุ สิ่งสำคัญหากไม่อยากเป็นโรคอัลไซเมอร์ ควรหมั่นบริหารสมอง อ่านหนังสือเป็นประจำ ดูแลสุขภาพจิตให้ดี