เราจะพบว่าพระเอกนางเอกที่แสดงในภาพยนตร์ฮอลลีวูดในปัจจุบัน เป็นนักแสดงสูงวัย อายุ 60-70 ปี ดูจะเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ใช่แสดงแค่เป็นตัวประกอบ แต่เป็นตัวเอก เช่น แฮริสัน ฟอร์ด อายุ 80 ปี (เกิดค.ศ. 1942) ซิลเวสเตอร์ สตาโลน อายุ 76 ปี (เกิดค.ศ.1946) อาร์โนลด์ ชวากเซเนกเกอร์ อายุ 75 ปี (เกิดค.ศ. 1947) และนางเอกที่สวยและเก่งเช่น เมอรีล สตีพ อายุ 73 ปี (เกิดค.ศ.1949) ดาราที่ยังมีบทบาทอยู่เหล่านี้ มีความสามารถในการแสดง เห็นได้จากการได้รับรางวัลมากมาย และหลายคนผลิตภาพยนตร์ และกำกับเอง
แต่ที่โดดเด่นที่สุดคนหนึ่งซึ่งผู้เขียนรู้สึกทึ่งและอยากหยิบมาเขียน คือคลิ้นท์ อีสต์วูด ที่ปัจจุบันอายุ 92 ปี แต่ยังแสดงเป็นพระเอก รวมทั้งสร้างและกำกับหนังที่มีคุณภาพจำนวนหลายสิบเรื่อง ที่พิเศษกว่านั้นคือความสามารถในการแต่งเพลงและร้องเองในหนังหลายเรื่อง
ผู้เขียนเคยได้ยินชื่อของคลิ้นท์มาตั้งแต่เด็กๆ แต่ไม่ได้ติดตามดูหนังที่คลิ้นท์แสดงอย่างจริงจัง เนื่องจากคลิ้นท์เริ่มดังในช่วงคริสตทศวรรษที่ 1960 เป็นยุคสมัยที่ผู้เขียนยังเป็นเด็กน้อย ภาพลักษณ์ความเป็นพระเอกของคลิ้นท์ผูกติดกับหนังประเภทบู๊ อาชญากรรม โดยแสดงเป็น คาวบอย ตำรวจ อาชญากร หรืออาชีพอื่นที่เข้าไปพัวพันกับอาชญากรรมเช่น นักข่าว แต่ก็มีหนังประเภทอื่นๆ อีกจำนวนไม่น้อยที่คลิ้นท์แสดง
ผู้เขียนเริ่มสนใจดูหนังที่คลิ้นท์สร้าง กำกับและแสดงเอง เมื่อไม่นานมานี้ เมื่อคลิ้นท์อายุมากแล้ว และพล็อตเรื่องของหนังที่เป็นละครชีวิต สะท้อนปัญหาสังคมในปัจจุบันได้อย่างน่าสนใจ โดยอยากจะหยิบยกมาเล่าบางเรื่อง เริ่มจากเรื่อง Million Dollar Baby ที่ใช้ชื่อภาษาไทยว่า เวทีแห่งฝัน วันแห่งศักดิ์ศรี ซึ่งตามความรู้สึกของผู้เขียนแล้วชื่อภาษาไทยไม่ค่อยสื่อความหมายที่ตรงมากนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อคิดถึงว่าหนังจบลงด้วยโศกนาฏกรรม ที่ไม่สอดคล้องกับคำว่าวันแห่งศักดิ์ศรีเท่าไหร่
หนังเรื่องนี้ออกฉายเมื่อปี 2004 เมื่อคลิ้นท์อายุได้ 74 ปี ซึ่งเป็นวัยเดียวกับ แฟรงกี้ ชื่อของเจ้าของค่ายมวยในหนังที่แสดงโดยคลิ้นท์ หนังถูกจัดเป็นประเภทดราม่าด้านกีฬามวย โดยเป็นเรื่องราวของแม็กกี้(แสดงโดย Hiraly Swank) ที่เข้ามาฝึกในค่ายมวยของแฟรงกี้ ด้วยความตั้งใจและมุมานะ จนกระทั่งได้รับความสำเร็จเป็นแชมป์มวยหญิงหลายรายการ จนเมื่อการแข่งขันครั้งสุดท้ายที่อีกฝ่ายซึ่งมีชื่อเสียงว่าไม่เล่นตามกติกา ชกอย่างแรงเข้าข้างหลังหลังระฆังหมดยก ส่งผลทำให้แม็กกี้บาดเจ็บสาหัส และจบชีวิตตนลงด้วยความช่วยเหลือของแฟรงกี้
หนังมีฉากที่น่าประทับใจหลายฉากที่ให้ทั้งความคิดและกระตุ้นอารมณ์ความรู้สึกทั้งสนุก ตื่นเต้นและเศร้า ฉากแรกเริ่มจากค่ายมวยของแฟรงกี้ซึ่งดูซบเซา เพราะการที่แฟรงกี้มีอายุ และเน้นคุณภาพของนักมวยมากกว่าการส่งเข้าแข่งขัน เมื่อแม็กกี้ ซึ่งเป็นพนักงานเสริฟอาหารมาขอฝึกมวย แฟรงกี้ปฏิเสธ ด้วยเหตุผลที่ว่าเธอเป็นผู้หญิงและอายุมากแล้ว(มากกว่า 30) แต่ด้วยการยืนยันเข้ามาฝึกในค่ายมวย โดยมีผู้ช่วยของแฟรงกี้ช่วยพูดสนับสนุน แฟรงกี้ก็รับแม็กกี้เข้าฝึก หลังจากนั้น ฉากการชกบนเวทีมวย เช่นเดียวกับหนังที่เกี่ยวกับการแข่งกีฬา มีความตื่นเต้นต้องลุ้น เมื่อแม็กกี้ได้รับชัยชนะครั้งแล้วครั้งเล่าในหลายเวที จนกระทั่งการแข่งมวยหญิงระดับโลกที่ลาสเวกัส เมื่อระฆังหมดยกที่จะนำไปสู่การได้ชัยชนะของเธอ คู่ต่อสู้ก็เข้ามาจู่โจมต่อยทางด้านหลัง ทำให้เธอล้มฟาด หลังหักและเป็นอัมพาต ต้องนอนโรงพยาบาล โดยมีแฟรงกี้ดูแลแต่ผู้เดียว เธอรอให้แม่และญาติมาเยี่ยม แต่เมื่อพวกเขามา(หลังจากไปเที่ยวดิสนีย์แลนด์และสตูดิโอถ่ายหนังของฮอลลีวูด) ก็กลับไม่ได้แสดงความห่วงใยอะไร นอกจากยืนยันให้แม็กกี้โอนทรัพย์สินและที่ดินให้
ฉากสุดท้าย อาการของแม็กกี้ทรุดลง เธอขอให้แฟรงกี้ช่วยการุณยฆาตเธอ ซึ่งแฟรงกี้ไม่ยอมทำแต่แรก ต่อมาแม็กกี้กัดลิ้นตัวเองเพื่อฆ่าตัวตาย ทำให้แฟรงกี้ตัดสินใจช่วยฉีดยาที่ทำให้เธอพ้นความทรมาน
หนังเรื่องนี้ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี และได้รับรางวัล Academy Awards ถึง 4 รางวัลด้วยกัน ด้วยความยอดเยี่ยมทั้งการกำกับ, ภาพ, นักแสดงหญิง, ตัวแสดงรอง รวมทั้ง Golden Globe Awards ที่ให้รางวัลเพลงที่แต่งประกอบหนัง
ในตอนที่ผลิตและแสดงหนังเรื่องนี้ คลิ้นท์ อีสวูดอายุกว่า 70 ปีแล้ว ความสำเร็จของการผลิตหนัง อยู่ที่ประสบการณ์ที่มีมาอย่างยาวนาน การเลือกบทหนังที่พระเอกเป็นคนที่สูงวัยอยู่แล้ว ทำให้บทบาทสมจริง และเรื่องราวที่ผสมผสานความเป็นดราม่าและความน่าตื่นเต้นของกีฬามวย ทำให้หนังได้รับรางวัลไปตามความคาดหมาย ถือเป็นหนังที่น่าประทับใจที่สุดเรื่องหนึ่ง
พระเอกหนังสูงวัย: คลิ้นท์ อีสต์วูด ดาราฮอลลีวูดในวัย 90+ (ตอน 1)
อ้างอิงที่มา
ข้อมูลสรุปจาก https://www.rollingstone.com/tv-movies/tv-movie-lists/clint-eastwood-25-essential-movies-197838/the-mule-2018-1006169/