เมื่อเข้าสู่วัยผู้สูงอายุ แน่นอนว่าเกิดการเปลี่ยนทางด้านร่างกายอย่างเห็นได้ชัด ส่งผลให้การดำเนินชีวิตประจำวันย่อมมีการเปลี่ยนแปลงไป การศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับโรคและความเสี่ยงของผู้สูงอายุ รวมไปถึงโรคที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ ก็จะทำให้คนใกล้ชิด สมาชิกในครอบครัวช่วยกันสังเกต เฝ้าระวัง และรับมือได้อย่างเข้าใจ
- ความเสี่ยงสมองเสื่อม
โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ในวัยผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป ซึ่งจะมีอาการสูญเสียการรู้คิด เพราะสมองทำงานผิดปกติไปจากเดิม ซึ่งสาเหตุของอาการนี้เกิดจากความเสื่อมลงจากอายุที่มากขึ้น และยังรวมไปถึงโรคต่างๆที่ส่งผลให้เกิดอาการสมองเสื่อมได้ คือ โรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเส้นเลือดสูง ซึมเศร้า โรคทางระบบประสาท วิธีรับมือและป้องกันได้คือการกระตุ้นการรู้คิดผ่านกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเล่นจับคู่ จับภาพ ทายคำ ต่อจิ๊กซอว์ โดยมุ่งเน้นในขั้นตอนที่เข้าใจง่ายมากกว่าผลลัพธ์ของกิจกรรม และยังเป็นการเสริมสร้างช่วงเวลาดีของสมาชิกในครอบครัวร่วมกันได้ด้วย
2. ความเสี่ยงการหกล้ม
การหกล้มในวัยผู้สูงอายุมักพบได้บ่อยครั้งและเป็นอันตรายมาก เนื่องจากการสูญเสียการทรงตัว เพราะสมอง กล้ามเนื้อ ข้อ เกิดการเสื่อม รวมไปถึงการได้ยินและการมองเห็นลดลง ทำให้เสี่ยงต่อการลื่นล้มได้โดยง่าย สิ่งสำคัญที่เฝ้าระวังได้ดีที่สุดคือการหมั่นสังเกตการทรงตัวของผู้สูงอายุ หากมีอาการผิดปกติควรเฝ้าระมัดระวังทันที รวมไปถึงการเข้าห้องน้ำที่มักเป็นส่วนให้ผู้สูงอายุลื่นล้มได้ง่ายมากที่สุด ควรมีการตรวจประเมินการทรงตัวสำหรับผู้สูงอายุด้วยการตรวจ Tandem Standing Test เพื่อฝึกการทรงตัว การเดิน และออกกำลังเสริมสร้างกล้ามเนื้ออย่างถูกต้อง
3. กระดูกพรุน
ในวัยผู้สูงอายุสภาพร่างกายที่ค่อยๆเสื่อมชราลง กระดูกก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เสื่อมชราลงตามวัย แคลเซียมสลายออกจากกระดูกมากขึ้น ทำให้น้ำหนักกระดูกลดลง เปราะ หักง่าย หมอนรองกระดูกบางลง หลังค่อมมากขึ้น ความสูงลดลง เคลื่อนไหวไม่ค่อยสะดวก วิธีการรับมือจากอาการเหล่านี้คือการออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยลดความเบาบางของมวลกระดูกได้ รวมไปถึงควรทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง และตรวจเช็คกับแพทย์เฉพาะทางเพื่อรับมือได้อย่างถูกวิธี
4. อารมณ์ซึมเศร้า
ปัญหาสุขภาพจิตนับว่าเป็นอีก 1 ปัญหาสำคัญสำหรับผู้สูงอายุ โดยเฉพาะโรคซึมเศร้า ด้วยเพราะการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและบทบาทในสังคมอาจจะส่งผลต่อภาวะทางอารมณ์และจิตใจ ทำให้รู้สึกเบื่อหน่าย หมดกำลังใจ ขาดความรัก รู้สึกว่าไม่มีค่าไม่มีใครต้องการ ทั้งนี้สมาชิในครอบครัว คนใกล้ชิด ควรหมั่นสังเกต หากผู้สูงอายุมีการแยกตัว เบื่อหน่าย หรือทุกข์ใจ ก็ไม่ควรละเลย ควรรีบปรึกษาแพทย์และหากิจกรรมที่ทำร่วมกันในครอบครัว เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากภาวะซึมเศร้า
5. กล้ามเนื้ออ่อนแรง
ผู้สูงอายุที่มีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง จะมีการเคลื่อนไหวที่ไม่คล่องตัว เกิดจากการทีจำนวนขนาดและเส้นใยของกล้ามเนื้อบวกกับกำลังการหดตัวของกล้ามเนื้อลดลง ซึ่งอาการอ่อนแรงนั้นมีหลายระดับ ตั้งแต่การกำมือแน่นไม่แน่นไปจนถึงการยกขา อาการในแต่ละคนไม่เหมือนกันอาจจะเป็นได้ในระยะสั้้น หรือระยะยาว ควรหมั่นสั่งเกตและให้แพทย์ตรวจเช็ค เพื่อได้รับคำแนะนำที่เหมาะสม
ที่มารูปภาพ : https://www.freepik.com/