โดย พญ. ชัญวลี ศรีสุโข (chanwalee@srisukho.com)
คุณเอ(นามสมมุติ)อายุ 63 ปี มีอาการวัยทอง รู้สึกร้อนวูบวาบ เหงื่ออกจนเสื้อเปียก วันหนึ่งต้องมีอาการอย่างต่ำ 4-5 รอบ ได้ยินเพื่อนบอกว่า มีงานวิจัยใหม่ ให้เราฝึกสมาธิ มองภาพแล้วให้จินตนาการไปในเรื่องดีๆ พร้อมกับฟังเพลงบรรเลง จะช่วยให้อาการดีขึ้น ดิฉันฟังแล้วสนใจ อยากลองทำตามบ้าง จึงอยากได้คำแนะนำเพิ่มเติมจากคุณหมอด้วยค่ะ
ใครไม่เคยร้อนวูบวาบจากอาการวัยทองคงไม่รู้ว่าทรมานเพียงใด อาการความร้อนแผ่ซ่านจากหน้าอก ใบหน้า กระจายไปหาแขนขา เจ้าตัวไม่ได้รู้สึกร้อนอย่างเดียว แต่เห็นเส้นเลือดขยายจนผิวเป็นสีแดง นานประมาณ 2-3 นาที จนต้องเปิดแอร์คอนดิชั่นหรือพัดลมให้เย็นสุด ต่อจากนั้นก็จะเกิดเหงื่อแตก ไหลซิก จนตัวชุ่มโชก ตามมาด้วยตัวสั่นหนาว ต้องรีบปิดแอร์ปิดพัดลม เอาผ้าห่มมาห่ม ร้อนหนาวเอาล่อเอาเถิดอย่างนี้ บางคนแค่คืนละครั้งยังทนไม่ไหว เกิดความเครียด ไม่หลับไม่นอน อาการเหมือนคนบ้า บางคนเกิดร้อนวูบวาบคืนละหลายครั้ง ทุกข์ ซึมเศร้า จนเกิดอาการเบื่อชีวิตก็มี
โชคดีที่อาการร้อนวูบวาบ ไม่ได้เกิดกับคนวัยทองทุกคน ตามสถิติพบคนไทยและคนเอเชียเป็นน้อยกว่าชาติตะวันตกทั้งจำนวนคนที่เป็นและความรุนแรง โดยพบหญิงวัยทองร้อนวูบวาบประมาณ 2 ใน 3 คน ในบรรดาคนที่มีอาการ ครึ่งหนึ่งเป็นปานกลางถึงรุนแรง อีกครึ่งหนึ่งเป็นไม่มาก
ปัจจัยเสี่ยง ที่ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบรุนแรง คือ อ้วน สูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย การศึกษาน้อย ฐานะยากจน เครียด ซึมเศร้า
สาเหตุของอาการร้อนวูบวาบ เป็นเรื่องของสมอง เมื่อฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจนลดลง สมองส่วนที่ควบคุมอุณหภูมิร่างกายเกิดไวกว่าปกติ โดยทั่วไป เมื่อมีอุณหภูมิร่างกายเพิ่ม 0.4 องศาเซลเซียส สมองจึงจะสั่งการระบายความร้อน เช่นทำให้เส้นเลือดขยาย เหงื่อไหลออกมา แต่เมื่อเข้าสู่วัยทอง อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เช่น 0.1 องศาเซลเซียส สมองก็สั่งให้ระบายความร้อน เส้นเลือดขยาย เหงื่อแตก แต่เมื่ออุณหภูมิไม่ได้ร้อนจนต้องระบายความร้อน ร่างกายจะเกิดอาการหนาวสั่นแทน
แต่อาการร้อนวูบวาบ ไม่ใช่อาการวัยทองทุกคน เจอคนไข้มาหาด้วยอาการร้อนวูบวาบ คิดว่าตนเองเป็นวัยทอง แต่ไม่ใช่ เนื่องจากอาการร้อนวูบวาบจากวัยทอง มักจะเกิด 1-3 ปีก่อนหมดประจำเดือน คืออายุประมาณ 45 ปีขึ้นไป และเกิดต่อไปจนหลังหมดประจำเดือนไปได้นานถึง 10 ปี งานวิจัยในต่างประเทศ พบว่าหญิงอายุ 72 ปี ยังมีอาการร้อนวูบวาบได้ถึงร้อยละ 9 คือเกิดกระทั่ง 20 ปีหลังหมดประจำเดือน
สาเหตุของอาการร้อนวูบวาบ ที่ไม่ได้เกิดจากการลดฮอร์โมนหรือการหมดประจำเดือนมีดังนี้ค่ะ
- เป็นไปตามสรีรวิทยาของร่างกาย เช่นเกิดจากความเครียด รับประทานของเผ็ดร้อน อยู่ในอากาศร้อน เกิดการแพ้(Anaphylaxis)เช่นแพ้อาหาร แพ้ผงชูรส
- ดื่มเหล้า แอลกอฮอล์ทำให้เส้นเลือดขยายเกิดอาการร้อนวูบวาบ ตามด้วยหนาวสั่นได้
- ฤทธิ์ของยา มียามากกว่า 10 กลุ่มที่ทำให้เกิดอาการร้อนวูบวาบ เช่น กลุ่มยาต้านเศร้า ยาแก้ไข้ ยาแก้ปวด ยาลดฮอร์โมนเพศ ยาลดน้ำตาล ยาเกี่ยวกับประสาทอัตโนมัติ ยาลดความดันโลหิต ยาที่ทำมาจากฝิ่นและอนุพันธ์ของฝิ่น ยาลดกรด ยาขยายหลอดลม เป็นต้น
- มะเร็ง มะเร็งหลายชนิดที่ปล่อยฮอร์โมนหรือเกี่ยวข้องกับเส้นเลือดทำให้ร้อนวูบวาบได้ เช่นมะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งต่อมไธรอยด์ มะเร็งรังไข่ มะเร็งไต มะเร็งต่อมลูกหมาก ฯลฯ
- การติดเชื้อ วัณโรค แบคทีเรีย เชื้อรา เอชไอวี ตับอักเสบ เชื้อไวรัสอื่น ๆ
- เป็นโรคประสาทสมองเช่น เสื่อม ได้รับบาดเจ็บ อักเสบ เส้นเลือดแตก หรือเส้นเลือดตีบ
- อื่น ๆ เช่นเป็นโรคกรดไหลย้อน โรคแพนิค เป็นคนขี้ร้อน เหงื่อไหลง่าย เป็นต้น
ดังนั้น เมื่อมีอาการร้อนวูบวาบ ที่รบกวนชีวิตประจำวัน ในคนที่อายุไม่มาก ควรไปพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุ อย่าเพิ่งปลงใจว่าเป็นวัยทองอย่างเดียว
การรับมือกับอาการร้อนวูบวาบ และการเลือกวิธีรักษา
ขึ้นอยู่กับ ความรุนแรงของอาการ สาเหตุที่ทำให้เป็น มีโรคหรือมีข้อห้ามต่อการใช้ฮอร์โมนหรือไม่ และความชอบส่วนตัว ปัจจุบันประมาณร้อยละ 50-75 ของคนที่มีอาการร้อนวูบวาบ หันมาเลือกการรักษาแบบแพทย์ทางเลือก ซึ่งได้ผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 จากผลทางจิตใจ ง่านวิจัยพบว่า แม้แต่ใช้ยาหลอก แต่คนไข้มีความมั่นใจ ก็ได้ผลไม่ต่ำกว่าร้อยละ 50 แล้ว
อย่างไรก็ตาม อย่าคิดว่า การรักษาแบบแพทย์ทางเลือกจะไม่มีอันตราย เพราะการกินสมุนไพรบางชนิด อาจทำให้เกิดอันตรายต่อ ตับ ไต และหากมีเนื้องอกที่มีสัญญาณรับฮอร์โมน เช่นเนื้องอกมดลุก มะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้
การรักษา อาการร้อนวูบวาบ จากวัยทอง มีดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม เช่นลดความอ้วน คลายเครียด ออกกำลังกาย อยู่ที่เย็น นุ่งเสื้อผ้าที่คลายร้อน อาบน้ำเย็นบ่อย ๆกินน้ำเย็น เป็นต้น หากเป็นน้อยได้ผลดี
- ยารักษาตามอาการหรือยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมน เช่นยานอนหลับ คลายเครียด ต้านเศร้า แก้ใจสั่น
- ฮอร์โมน สำหรับคนที่มีอาการรุนแรง การรักษาด้วยฮอร์โมนเพสหญิงเอสโทรเจนได้ผลดีมาก แต่แนะนำให้กินไม่เกิน 5 ปี เพราะอาจเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านม
- แพทย์ทางเลือก แบ่งเป็นสามกลุ่ม จากผลการรักษา ที่ได้มาจากการวิจัยที่เชื่อถือได้
1. ได้ผลดี แต่ต้องวิจัยเพิ่มเติม (Promising therapies) เช่น การปรับความคิด อารมณ์และพฤติกรรม (Cognitive behavior therapies) การสะกดจิต(Hypnosis) เทคนิคการทำสมาธิเพ่งลมหายใจและจินตนาการ (Mind body based therapy) การบล็อคประสาทอัตโนมัติ (Stellate ganglion block)
2. ได้ผลไม่แน่นอน (Inconsistent evidence of efficacy)ได้ผลเป็นบางคน เช่น การใช้พืชผักสมุนไพร ถั่วเหลือง เต้าหู้ แบลคโคฮอช(Black cohosh) ตังกุย
3. ไม่ได้ผล (Ineffective therapies) ได้แก่ การฝังเข็ม อีฟนิ่ง พริมโรส(Evening primrose oil) โสม แม่เหล็กไฟฟ้า
References :
1. Kronenberg F, Fugh-Berman A. Complementary and alternative medicine for menopausal symptoms: a review of randomized, controlled trials. Ann Intern Med 2002; 137:805.
2. Upmalis DH, Lobo R, Bradley L, et al. Vasomotor symptom relief by soy isoflavone extract tablets in postmenopausal women: a multicenter, double-blind, randomized, placebo-controlled study. Menopause 2000; 7:236.
3. Franco OH, Chowdhury R, Troup J, et al. Use of Plant-Based Therapies and Menopausal Symptoms: A Systematic Review and Meta-analysis. JAMA 2016; 315:2554.
4. Newton KM, Reed SD, LaCroix AZ, et al. Treatment of vasomotor symptoms of menopause with black cohosh, multibotanicals, soy, hormone therapy, or placebo: a randomized trial. Ann Intern Med 2006; 145:869.
5. Cho SH, Whang WW. Acupuncture for vasomotor menopausal symptoms: a systematic review. Menopause 2009; 16:1065.
6.Lindh-Astrand L, Nedstrand E, Wyon Y, Hammar M. Vasomotor symptoms and quality of life in previously sedentary postmenopausal women randomised to physical activity or estrogen therapy. Maturitas 2004; 48:97.
7.https://www.freepik.com/