การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้สูงวัย

เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ หรือ ผู้สูงอายุ สิ่งที่เราต้องเตรียมรับมือหรือต้องระวัง หรือโรคต่างๆที่จะตามมา การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้ใหญ่ได้มีข้อแนะนำต่างๆ ที่เราควรจะดูแลและ ปฎิบัติตาม

โดย  พญ. ชัญวลี ศรีสุโข (chanwalee@srisukho.com)

การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในผู้ใหญ่อายุต่ำกว่า 65 ปี คำแนะนำประกอบไปด้วย

1.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ

1.1 ประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดและหัวใจ ประชาชนอายุเกิน 20 ปี ควรได้รับการประเมินความเสี่ยงจากแพทย์ ทุก 3-5 ปี

1.2 วัดความดันโลหิต ประชาชนอายุเกิน 18 ปี ควรได้วัดความดันโลหิต แม้ยังไม่มีการกำหนดความถี่ แนะนำว่าทุกครั้งที่ไปสถานพยาบาล ควรได้รับการวัดความดันโลหิต

1.3 ตรวจระดับไขมันในเลือด ประชาชนอายุ 17-21 ปี ควรเจาะเลือดตรวจไขมันอย่างน้อย 1 ครั้ง หากมีความเสี่ยง เช่น เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง สูบบุหรี่ มีประวัติครอบครัว ควรตรวจหาระดับไขมันในเลือด เมื่อผู้หญิงอายุ 35 ปี ผู้ชายอายุ 25 ปีขึ้นไป หากไม่มีความเสี่ยงเลย ควรตรวจหาระดับไขมันในเลือดเมื่อผู้หญิงอายุ 45 ปี ผู้ชายอายุ 35 ปีขึ้นไป

1.4 ตรวจเช็กความอ้วน ควรคำนวณ ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ใช้น้ำหนักเป็นกิโลกรัมหารด้วยส่วนสูงเป็นเมตรยกกำลังสอง ค่าปกติต่ำกว่า 25 ค่า 25-30 คือน้ำหนักเกิน มากกว่า 30 คืออ้วน ควบคู่ไปกับวัดเส้นรอบเอว ในผู้ชายและผู้หญิง

ไม่ควรเกิน 90 และ 80 เซนติเมตร คนที่น้ำหนักเกิน ควรได้รับคำแนะนำให้ปรับอาหารและออกกำลังกายเป็นพื้นฐาน

1.5 แนะนำการออกกำลังกาย ประชาชนทุกเพศทุกวัยควรได้รับคำแนะนำให้ออกกำลังกาย

1.6 ตรวจหาเบาหวาน ประชาชนที่มีโรคไขมันในเส้นเลือด หรือความดันโลหิตสูง ควรตรวจหาเบาหวาน เช่นเดียวกับประชาชนอายุ 40-70 ปี ที่มีค่า BMI เกิน 25

2.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมะเร็ง

คำแนะนำทั่วไปในการป้องกันโรคมะเร็งมีดังนี้

  • ไม่สูบบุหรี่ ซึ่งเป็นสาเหตุของมะเร็งแทบทุกชนิด โดยเฉพาะมะเร็งปอด
  • ออกกำลังกายเป็นประจำ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ
  • กินอาหารที่อุดมด้วย ผัก ผลไม้ ธัญพืช อาหารไขมันต่ำ
  • จำกัดการดื่มแอลกอฮอล์
  • ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ระวังแสงแดดแรงเผาผิวหนัง เพราะเป็นบ่อเกิดของมะเร็งผิวหนัง
  • ตรวจคัดกรองหามะเร็งเต้านม ปากมดลูก ลำไส้ใหญ่และทวารหนักตามคำแนะนำ
การคัดกรองมะเร็ง

2.1 มะเร็งเต้านม ในกรณีที่มีประวัติสายตรงในครอบครัว ควรพบแพทย์ปรึกษาการตรวจหายีนกลายพันธุ์ ส่วนการคัดกรองแมมโมแกรมแนะนำทำในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปทุก 2 ปี งานวิจัยพบว่าการตรวจเต้านมด้วยแพทย์ และด้วยตนเอง ไม่ลดการตายจากโรคมะเร็งเต้านม(ผู้เขียน เป็นคำแนะนำของประเทศสหรัฐอเมริกา อาจเพราะเต้านมชาวตะวันตกมีขนาดใหญ่คลำยาก คำแนะนำของประเทศไทย ควรคลำเต้านมทุกเดือน เมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป

2.2 มะเร็งปากมดลูก คัดกรองแป๊บสเมียร์ (Pap smear) ในผู้หญิงอายุ 21 ปี ขึ้นไป ทุก 3 ปี อายุ 30 ปีขึ้นไป ควรตรวจหาไวรัสเอชพีวีร่วมกับแป๊บสเมียร์ ทุก 5 ปี

2.3 มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก หากเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติครอบครัวเป็น ควรคัดกรองเมื่ออายุ 40 ปี ด้วยวิธีส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscope) หากไม่มีความเสี่ยงควรคัดกรองเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไป ซึ่งอาจจะใช้วิธีส่องกล้องตรวจ หรือเอกซเรย์สวนแป้งเข้าทวารหนัก หรือตรวจหาเลือดในอุจจาระ

2.4 มะเร็งปอด ประชาชนอายุ 55-74 ปี สูบบุหรี่ปีละมากกว่า 30 ซอง กำลังสูบหรือหยุดสูบมาภายใน 15 ปี แนะนำให้ตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอด การคัดกรองด้วยเอกซเรย์ปอดไม่ช่วยลดการตายจากมะเร็งปอด

2.5 มะเร็งต่อมลูกหมาก ชายอายุ 50 ปี คัดกรองด้วยการตรวจทวารหนักและเจาะเลือดหา PSA หรือเจาะเลือดหา PSA อย่างเดียว ทุก 2-4 ปี

2.6 มะเร็งผิวหนัง ในประชาชนผู้มีความเสี่ยง เช่น มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งผิวหนัง ตนเองมีไฝหรือปานที่มีความเสี่ยง ควรพบแพทย์ตรวจผิวหนังทั่วตัว หรือคอยเฝ้าระวังการเปลี่ยนแปลงของผิวหนังด้วยตนเอง

3.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคด้วยการฉีดวัคซีน

มีคำแนะนำให้ฉีดวัคซีนดังต่อไปนี้

  • วัคซีนไข้หวัดใหญ่ ฉีดทุก 1 ปี
  • วัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ฉีดทุก 10 ปี
  • วัคซีนอีสุกอีใส ฉีด 2 เข็มหากยังไม่มีภูมิต้านทาน
  • วัคซีนเอชพีวี ฉีด 3 เข็ม
  • วัคซีนงูสวัด ฉีด 1 เข็ม
  • วัคซีนโควิด ครบเข็มกระตุ้น เมื่อมีโรคระบาดตามคำแนะนำของกรมควบคุมโรคของประเทศ
  • วัคซีนกันปอดอักเสบนิวโมคอคคัส (Pneumococcus) ฉีด 1-2 เข็ม
  • วัคซีนตับอักเสบไวรัส เอ 1-2 เข็ม วัคซีนตับอักเสบไวรัสบี 3 เข็ม หากยังไม่มีภูมิต้านทาน

4.การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และทางเลือด

แนะนำให้คัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ได้แก่ หนองในแท้ หนองในเทียม (Chlamydia) ไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี เอชไอวี และซิฟิลิส ในคนกลุ่มเสี่ยง เช่น มีแฟนหลายคน เคยติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มาก่อน ติดยาเสพติด เปลี่ยนคู่นอนเป็นประจำ แนะนำให้ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์เสี่ยง

5.การส่งเสริมสุขภาพจิต

แนะนำให้ตอบแบบสอบถาม คัดกรองภาวะซึมเศร้า ทุกครั้งที่ได้ไปตรวจเช็กสุขภาพ แพทย์ควรถามเองความรุนแรงในครอบครัว หากมีควรให้คำปรึกษา ถามเรื่องการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ใช้ยาเสพติด ถ้ากำลังใช้อยู่ แนะนำให้งดหรือลด

ตัวอย่างแบบสอบถาม การคัดกรองภาวะซึมเศร้า

สามารถคัดกรองได้เอง ใช้คำถาม 9 ข้อ หากไม่มีเลย คะแนน = 0 หาก 2-3 วัน เป็นครั้ง = 1 หากเป็นนานครึ่งวัน = 2 หากเป็นทุกวัน = 3

1.รู้สึกแย่ ซึมเศร้า หงุดหงิด ฉุนเฉียว สิ้นหวัง

2.ไม่อยากทำ ไม่สนใจ ไม่มีความสุขในการทำสิ่งต่างๆ

 3.นอนไม่หลับ หรือง่วงนอนทั้งวัน หรือหลับทั้งวัน

4.ไม่อยากกินอะไร เบื่ออาหาร หรือกินได้ทั้งวันมากกว่าปกติ

5.รู้สึกไม่มีแรง ไม่มีพลัง เหนื่อย

6.รู้สึกแย่กับตนเอง เป็นคนขี้แพ้ ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ลำบาก

7.ไม่มีสมาธิ ไม่สามารถทำการบ้าน อ่านหนังสือ หรือดูทีวีจนจบ

8.พูดและเคลื่อนไหวช้า หรือพูดเร็วกระสับกระส่ายเดินวนเป็นเสือติดจั่น

9.คิดอยากตาย อยากทำร้ายตนเอง

รวมคะแนนคัดกรอง หากได้คะแนน 0-4 ไม่มีภาวะซึมเศร้า 5-9 มีภาวะซึมเศร้าเล็กน้อย 10-14 มีภาวะซึมเศร้าปานกลาง 15-19 มีภาวะซึมเศร้ามาก 20 มีภาวะซึมเศร้ารุนแรง คะแนนรวมต่ำกว่า 10 ควรหาสาเหตุ ปรับสิ่งแวดล้อม พูดคุย ให้คำปรึกษา หากไม่สำเร็จ หรือคะแนนรวมเกิน 10 ควรปรึกษาจิตแพทย์

6. การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคกระดูกพรุน

ควรคัดกรองในผู้หญิงอายุมากกว่า 65 ปี สำหรับผู้ชายหรือผู้หญิงอายุต่ำกว่า 65 ปี ควรคัดกรองในคนที่มีความเสี่ยง เช่น เคยมีกระดูกหัก ผอมบาง สูบบุหรี่ ดื่มเหล้า ใช้สารสเตียรอยด์ เป็นโรครูมาตอยด์ มีภาวะทำให้กระดูกพรุน (เช่น โรคตับ โรคลำไส้ หมดประจำเดือนเร็ว ฯลฯ) โดยใช้เครื่องสแกนความหนาแน่นมวลกระดูก (DXA scan)

7. โรคหลอดเลือด

ไม่แนะนำคัดกรอง การโป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง( aortic aneurysm ;AAA) ในคนอายุน้อยกว่า 65 ปี

แต่แนะนำให้คัดกรองAAA โดยใช้อัลตร้าซาวนด์ ในคนอายุ 65-70 ปี ที่เคยสูบบุหรี่ หรือไม่เคยสูบบุหรี่ แต่มีญาติสายตรงใกล้ชิดเป็นโรคนี้ จนต้องผ่าตัดซ่อมแซม

References : 

  1. Centers for Disease Control and Prevention (CDC). Ten great public health achievements–United States, 1900-1999. MMWR Morb Mortal Wkly Rep 1999; 48:241.
  2. Saini SD, van Hees F, Vijan S. Smarter screening for cancer: possibilities and challenges of personalization. JAMA 2014; 312:2211.
  3.  Lansdorp-Vogelaar I, Gulati R, Mariotto AB, et al. Personalizing age of cancer screening cessation based on comorbid conditions: model estimates of harms and benefits. Ann Intern Med 2014; 161:104.
  4. https://www.freepik.com/

Categories

บทความล่าสุด

Tags

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า