ในบทนี้จะแสดงให้เห็นว่า สังคมสูงวัยในระดับสุดยอดในกรณีของญี่ปุ่นนั้นเป็นเช่นไร จากการจัดระดับสังคมสูงวัยโดยสหประชาชาติ (อ้างใน https://thaitgri.org) สังคมสูงวัยมี 3 ระดับ โดยดูจากสัดส่วนของผู้สูงวัยที่มีอายุ 60 ปี หรือ 65 ปีขึ้นไป ตามที่แสดงในตาราง
ตารางที่ 1 ระดับสังคมสูงวัยตามสัดส่วนผู้สูงวัยอายุเท่ากับหรือมากกว่า 60 ปี
ระดับ | ร้อยละของผู้มีอายุ 60 ปีและมากกว่า (65 ปีและมากกว่า) ต่อจำนวนประชากรทั้งหมด |
สังคมสูงวัย (Aged society) | 10 (7) |
สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ (Completed-aged society) | 20 (14) |
สังคมสูงวัยระดับสุดยอด (Super-aged society) | 28 (20) |
สำหรับสังคมญี่ปุ่น เมื่อถึงปี 2020 ผู้ที่อายุเท่ากับหรือมากกว่า 65 มีสัดส่วนเป็นร้อยละ 28.7 ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งหมายความว่าจำนวนสูงมากกว่าที่กำหนดให้เป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอดไปมาก (ตามตารางกำหนดจากผู้มีอายุ 60 ปีหรือมากกว่า) และถือเป็นประเทศที่สูงวัยมากที่สุดในโลก
นั่นหมายความว่า ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีคนสูงวัยจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่คนอายุน้อยมีน้อยลงเรื่อยๆ ซึ่งทำให้ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ “สูงวัย” โดยถ้าดูจากจำนวนในปี 2020 ผู้ที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปมีถึง 36.17 ล้านคน เป็นตัวเลขเท่ากับจำนวนคนในประเทศโปแลนด์ทั้งหมด และที่น่าสนใจก็คือ ส่วนใหญ่ของผู้สูงวัยนี้เป็นผู้หญิง ด้วยเหตุที่ในประเทศญี่ปุ่น ผู้หญิงมีอายุขัยเฉลี่ยสูงกว่าผู้ชาย โดยในปี 2019 อายุขัยของผู้หญิงเป็น 87.45 ปี ในขณะที่ผู้ชาย 81.41 ปี ซึ่งสูงเป็นอันดับสองของโลกรองจากฮ่องกง และถ้าเปรียบเทียบกับของไทยในปี 2020 พบว่าผู้คนอายุเฉลี่ยสูงขึ้น แต่ก็ไม่เท่ากับญี่ปุ่น นั่นคือ หญิงอายุขัยเฉลี่ย 80.4 ปี ชาย 73.2 ปี (www.thansettakij.com, 13 เมษายน 2564)
นอกจากจำนวนผู้สูงวัยญี่ปุ่นที่มีมากแล้ว ที่พิเศษกว่านั้นก็คือ ผู้สูงวัยที่นี่อายุยืนมาก คือ ในปี 2020 ผู้ที่อายุกว่า 100 ปีมีถึง 80,000 คน และในจำนวนนี้มีราว 150 คนที่มีอายุมากกว่า 110 ปี (D’Ambrogio, 2020)
แล้วทำไมคนญี่ปุ่นถึงอายุยืนมาก จากการสำรวจของหน่วยบริการวิจัยของรัฐสภายุโรปและจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง พบว่ามีห้าปัจจัยที่สำคัญที่มีส่วนทำให้คนญี่ปุ่นมีสุขภาพแข็งแรง ส่งผลให้เจ็บไข้ได้ป่วยน้อยและอายุยืนมาก ปัจจัยแรกคือ เรื่องอาหาร อาหารญี่ปุ่น โดยทั่วไปถือได้ว่า ไม่เน้นรสหวาน มัน เค็ม ที่เป็นอาหารต้องห้ามที่ส่งผลถึงโรคยอดฮิตเช่น ความดัน เบาหวาน หัวใจ ไต ฯลฯ เน้นการกินปลา และกินเนื้อสัตว์แต่น้อย กินเต้าหู้เป็นประจำ ฯลฯ ปัจจัยที่สองคือ น้ำสะอาด ซึ่งเป็นผลทั้งจากแหล่งต้นน้ำที่สะอาด และกระบวนการผลิตที่คำนึงถึงคุณภาพ น้ำสะอาดมีผลทำให้การผลิตพืชผักเป็นไปได้ด้วยดี เช่น การปลูกวาซาบิในแม่น้ำที่ไหลตามธรรมชาติ รวมทั้งการผลิตเหล้าที่ดีต้องอาศัยน้ำสะอาด
ปัจจัยที่สามของการทำให้อายุยืน คือการไม่หยุดการเคลื่อนไหวและการทำงาน ทั้งอาจจะเป็นวัฒนธรรมซึ่งพัฒนาขึ้นมาจากการที่ขาดแคลนแรงงานมานานพอสมควร (ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 1994 หรือเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา) ผู้ที่ไปเยือนญี่ปุ่นจะเห็นแรงงานที่เป็นผู้สูงวัยอยู่ทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหน่วยงานที่ไม่ใช่ราชการหรือบริษัทที่ยังจำกัดอายุของการเกษียณงาน งานร้านอาหารที่ทำหน้าที่เป็นพ่อครัวแม่ครัว พนักงานบริการ ฯลฯ อีกทั้งจะเห็นผู้สูงวัยที่ออกมาทำธุระในชีวิตประจำวันเองในสถานที่ต่างๆ รวมทั้งตลาดและห้างร้านอยู่เป็นปกติ เคยมีสารคดีที่กล่าวถึงพื้นที่ชนบทที่เกษตรกรอายุกว่า 90 ปี ยังทำงานปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เป็นปกติ
ปัจจัยที่สี่ คือการรักษาความสะอาด รวมทั้งการป้องกันตัวเองจากการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ซึ่งก่อนหน้าที่โรคโควิดจะแพร่ระบาด คนญี่ปุ่นก็นิยมสวมหน้ากากอนามัย เมื่อรู้ว่าตัวเองไม่ปกติ เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรคหรือรับเชื้อโรคจากผู้อื่น และปัจจัยสุดท้ายก็คือการที่ญี่ปุ่นมีการประกาศใช้ระบบการประกันสุขภาพที่ครอบคลุมทุกคน (Universal Health Coverage) มาตั้งแต่ปี 1961 หรือ 60 กว่าปีที่แล้ว ทำให้สุขภาพโดยรวมของผู้คนมีหลักประกัน
ญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมสูงวัยระดับสุดยอด ซึ่งหมายความว่าแนวโน้มมีแต่จะสูงวัยมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งคาดว่าอีก 14 ปีข้างหน้า (2036) จะมีคนอายุ 65 ปีขึ้น ถึง 1 ใน 3 ของพลเมืองทั้งหมด
ปัญหาโดยตรงที่เกิดขึ้นจากสถานการณ์นี้ ก็คือ จะเอางบประมาณที่ไหนมาดูแลผู้สูงวัย และใครจะเป็นผู้ดูแล ในเมื่อจำนวนผู้ที่ทำงานเพื่อหารายได้และเสียภาษี (อายุ 20-64 ปี) มีสัดส่วนที่น้อยลง รัฐ ชุมชน และครอบครัวจะจัดการปัญหานี้อย่างไร
ข้อเขียนนี้เริ่มต้นจากการทำความเข้าใจพัฒนาการและสถานการณ์ผู้สูงวัยในญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีสัดส่วนผู้สูงวัยต่อประชากรสูงที่สุดในโลก โดยมีผู้สูงวัยอายุมากกว่า 65 ปีถึงร้อยละ 28.7 ของจำนวนประชากรทั้งหมดในประเทศในปี 2020 ในขณะที่ประเทศอิตาลีมีผู้สูงอายุในวัยเดียวกันในปี 2019 ร้อยละ 23.01 เป็นอันดับที่สอง ข้อกังวลของรัฐบาลและสังคมญี่ปุ่นในเรื่องปัญหาผู้สูงวัยที่มีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ และความมั่นคงทางสังคมมีมาอยู่ตลอด ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายและแผนการรับมือมาเป็นเวลากว่า 60 ปี ตั้งแต่เมื่อญี่ปุ่นเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยเมื่อปี 1961 เป็นต้นมา จึงเป็นเรื่องที่สำคัญที่ประเทศอื่นๆ จะได้เรียนรู้ถึงจุดแข็งจุดอ่อนและปัจจัยที่เอื้อต่อวิธีการจัดการของทั้งภาครัฐและประชาสังคมญี่ปุ่น ซึ่งจะได้บรรยายในตอนต่อๆ ไป
“ญี่ปุ่น” เมืองสังคมผู้สูงวัย (ตอนที่ 1 สังคมสูงวัยในระดับสุดยอดในประเทศญี่ปุ่น)
อ้างอิงที่มา
D’Ambrogio, Enrico. 2020. “Japan’s Ageing Society,” A Briefing document prepared for, and addressed to, the Members and staff of the European Parliament, by the European Parliamentary Research Service.
ขอขอบคุณรูปภาพจาก :
https://pixabay.com/
https://www.istockphoto.com/