“ญี่ปุ่น” เมืองสังคมผู้สูงวัย (ตอนที่ 2 ญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมสูงวัยที่หนึ่งในโลกได้อย่างไร)

ญี่ปุ่นกลายเป็นสังคมสูงวัยที่หนึ่งของโลกไปแล้ว ถือเป็นสังคมสูงวัยใน“ระดับสุดยอด” (Super-aged society) นั่นคือมีสัดส่วนของผู้สูงวัยที่อายุ 65 ปีหรือมากกว่าถึงร้อยละ 28.7 ตามสถิติเมื่อเดือนกันยายนปีค.ศ. 2020 ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุดในโลก การที่ผู้สูงวัยมีสัดส่วนที่สูงขึ้น เป็นเพราะผู้สูงอายุมีอายุยืนขึ้นและก็หมายความว่าผู้ที่อายุน้อยมีสัดส่วนที่ลดลง ซึ่งเกี่ยวพันกับอัตราการเกิดที่ต่ำซึ่งเป็นปัญหาที่พบในประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ รัฐญี่ปุ่นพยายามใช้มาตรการต่างๆ เพื่อกระตุ้นให้อัตราการเกิดสูงขึ้นซึ่งมีการกระเตื้องอยู่บ้างบางช่วงเวลา แต่แนวโน้มโดยรวมยังไม่เห็นผลสำเร็จ

การเป็นสังคมสูงวัยของญี่ปุ่น เกี่ยวพันกับอัตราการเจริญพันธุ์ (Fertility rate) ที่ต่ำ  ทำให้จำนวนคนในวัยเด็กและวัยทำงานมีน้อยลง ในขณะที่ผู้สูงอายุมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้น ส่งผลให้อัตราส่วนของผู้สูงอายุมีสูงขึ้น และจำนวนประชากรโดยรวมลดลง สาเหตุของการที่อัตราการเจริญพันธุ์ต่ำ ก็ต้องเริ่มจากการไม่แต่งงานหรือไม่ใช้ชีวิตคู่ และเมื่อแต่งงานแล้วไม่มีลูก ซึ่งมีสาเหตุปัจจัยที่เชื่อมโยงกับลักษณะทางเศรษฐกิจสังคม และวัฒนธรรมของประเทศญี่ปุ่น

อัตราการเจริญพันธุ์ เป็นตัวเลขที่แสดงให้เห็นว่าผู้หญิง 1 คนมีลูกกี่คน โดยอัตราการเจริญพันธุ์ของญี่ปุ่นจะเห็นได้ว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง จากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1947 ที่อัตราเจริญพันธุ์เป็น 4.5 ลดเหลือ 3.4 (ปี 1950), 2.11 (ปี 1960), 2.07 (ปี 1970),  1.8 (ปี 1980), 1.58 (ปี 1990) และเมื่อเข้าสู่ปี 2000 อัตราการเจริญพันธุ์ก็ไม่เคยสูงกว่า 1.3 อีกเลย โดยล่าสุดปี 2020 อัตราการเจริญพันธุ์เป็น 1.36

สาเหตุของการมีอัตราการเจริญพันธุ์ต่ำ ก็ต้องเริ่มจากประการแรก ความสนใจในการมีชีวิตคู่และการแต่งงานที่มีน้อยลง ซึ่งเป็นผลจากความสนใจในการมีเพศสัมพันธ์ที่น้อยลง  มหาวิทยาลัยโตเกียว (The University of Tokyo, 2019) แสดงตัวเลขจากการทำวิจัยในกลุ่มคนวัย 18-39 ปี  พบว่าประสบการณ์เพศสัมพันธ์มีน้อยลง จากปี 1992 ที่ผู้หญิง 22 ใน 100 คน ไม่มีประสบการณ์เพศสัมพันธ์ เพิ่มเป็น 25 ใน 100 คน ในปี 2015 ในขณะที่ชาย 20 ใน 100 คนที่ไม่มีประสบการณ์สัมพันธ์ในปี 1992 เพิ่มเป็น 26 คนในปี 2015  เมื่อมีปัญหาวิกฤติทางเศรษฐกิจสังคม ดังเช่นที่เกิดจาก การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เริ่มตั้งแต่ต้นปี 2020 ส่งผลมากขึ้นต่อความสัมพันธ์หญิงชาย ดังที่ บทความของ D’Ambrogio(2020) รายงานว่า  ในช่วงเดือนพ.ค.-ก.ค. 2020 การจดทะเบียนการแต่งงานมีลดลงจากช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้าถึงร้อยละ 36.9 อีกทั้งการแจ้งเรื่องการตั้งครรภ์ก็ลดลงถึงร้อยละ 11.4

การตัดสินใจแต่งงานน้อยลง ยังเกี่ยวพันกับสถานภาพทางเศรษฐกิจของทั้งชายและหญิง ในปี 2015   การสำรวจผู้ชายอายุไม่เกิน 50 ปี พบว่าไม่แต่งงานถึงร้อยละ 23.4 ในขณะที่ผู้หญิงในช่วงวัยเดียวกันไม่ได้แต่งงานร้อยละ 14.1 เป็นที่ทราบกันว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นตกต่ำลง ผู้คนหางานยากขึ้น และทำงานระยะเวลายาวนานขึ้น โดยที่ตัวเลขการจ้างงานชายที่ร้อยละ 97 ถูกจ้างงานในปี 1960 เหลือเพียงร้อยละ 86 ในปี 2010

สำหรับผู้หญิง แม้การจ้างงานมีเพิ่มมากขึ้นจากร้อยละ 50 ในปี 1960 เป็นร้อยละ 72 ในปี 2010 แต่การมีงานทำมากขึ้นไม่ได้ส่งผลถึงความปรารถนาจะเป็นแม่บ้านมากขึ้น เพราะวัฒนธรรมการแบ่งงานในครอบครัวที่ผู้หญิงต้องรับผิดชอบงานบ้านเป็นหลักอยู่ การทำงานนอกบ้าน จึงหมายถึงการที่ต้องทำงานหนักเพิ่มขึ้น  จากตัวเลขในบทสรุปเชิงนโยบาย (East-West Center, 2015) ในปี 2009 พบว่า ผู้หญิงใช้เวลาทำงานบ้าน 27 ชั่วโมงต่อ 1 สัปดาห์ สำหรับผู้หญิงที่ทำงานเต็มเวลาก็ยังต้องทำงานบ้าน 20 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ในขณะที่ผู้ชายช่วยทำงานเพียง 3 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เท่านั้น

ปัญหาอัตราการเจริญพันธุ์ที่ต่ำ ย่อมเป็นที่วิตกกังวล เพราะมีผลต่อจำนวนแรงงานและการจัดการดูแลผู้สูงวัย รัฐญี่ปุ่นจึงได้พยายามออกนโยบายและมาตรการต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้มีลูกมากขึ้น ที่สำคัญเช่น มาตรการการขยายเวลาให้พนักงานลาหลังคลอดได้นานขึ้น โดยลาได้ถึง 24 เดือนโดยได้รับเงินเดือน และมอบเงินครึ่งหนึ่งของเงินเดือนให้ก่อนลา มาตรการการให้ค่าอุดหนุนการเลี้ยงดูลูกรายหัว และการให้เด็ก 3-5 ขวบเรียนโรงเรียนอนุบาลฟรี  (D’Ambrogio, 2020) มาตรการเหล่านี้มีผลอยู่บ้าง แต่ก็ยังไม่ได้เกิดผลกระเทือนที่จะทำให้อัตราการเจริญพันธุ์สูงขึ้นเมื่อดูจากตัวเลขอัตราการเจริญพันธุ์ที่ไม่กระเตื้องขึ้นเลยในระยะ 30 ปีที่ผ่านมา

การที่ญี่ปุ่นเป็นสังคมสูงวัยระดับสุดยอด ไม่ได้เกิดขึ้นในคืนเดียว แต่มีพัฒนาการมายาวนาน อย่างน้อยก็ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สองหรือ 70 ปีที่ผ่านมา ด้านหนึ่งความก้าวหน้าทางการแพทย์และวัฒนธรรมการประพฤติปฏิบัติของคนญี่ปุ่นเองส่งผลให้ผู้คนมีอายุยืนยาวขึ้น แต่ในอีกด้านหนึ่ง ผู้คนสนใจที่จะมีครอบครัวและมีทายาทน้อยลง จุดชี้ขาดที่สำคัญของการแก้ปัญหาดูจะอยู่ที่การต้องปรับความสัมพันธ์ระหว่างหญิงชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแบ่งงานในครอบครัว เมื่อผู้หญิงยังถูกคาดหวังให้ต้องรับผิดชอบงานบ้านเป็นหลัก ในขณะที่ผู้หญิงมีการศึกษาสูงขึ้น ทำงานนอกบ้านมากขึ้น การตัดสินใจไม่แต่งงาน แต่งงานช้า หรือไม่มีทายาท เพื่อหลีกเลี่ยงภาระที่หนักจึงเกิดขึ้น โดยนโยบายของรัฐบาลที่จะช่วยแบ่งเบาภาระ ยังไม่มีแรงผลักดันพอที่จะดันให้อัตราการเจริญพันธุ์ของญี่ปุ่นสูงขึ้นได้

อ้างอิงที่มา

D’Ambrogio, Enrico. 2020. “Japan’s Ageing Society,” A Briefing document prepared for, and addressed to, the Members and staff of the European Parliament,  by   European Parliamentary Research Service.

East-West Center. 2015. “Government Response to Low Fertility in Japan,” Policy Brief no. 11. United Nation Expert Group Meeting on Policy Response to low Fertility. New York. 2-3 November 2015.

The University of Tokyo. “Press Release,” Apr 8, 2019.

Tsuya, Noriko O. 2017. “Low Fertility in Japan – No End in Sight,’ Asia Pacific Issues, No. 131, June 2017. Honolulu: East-West Center.

ขอขอบคุณรูปภาพจาก :

https://pixabay.com/

https://www.istockphoto.com/

Categories

บทความล่าสุด

Tags

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า