ในกลุ่มผู้สูงอายุเมื่อการดูดซึมอาหารของร่างกายลดลง โดยเฉพาะหากได้รับสารอาหารกลุ่มโปรตีนไม่เพียงพอจะ
ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างชัดเจน เนื่องจากโปรตีนเป็นสารอาหารมีความสำคัญต่อผู้สูงวัย ร่างกายต้องการโปรตีน เพื่อ
- เสริมภูมิคุ้มกัน เซลล์ภูมิคุ้มกันต่าง ๆ ในร่างกายล้วนถูกสร้างขึ้นด้วยโปรตีน ในขณะที่ระบบภูมิคุ้มกันผู้สูงวัยก็ค่อย ๆ อ่อนแอลง และมีโอกาสติดเชื้อมากกว่าคนหนุ่มสาวทั่วไป 2 – 10 เท่า โดยอาการเจ็บป่วยอาจจะไม่แสดงออกชัดเจน แต่เราสามารถสังเกตสัญญาณบางอย่างได้ เช่น ซึม เหนื่อยง่าย เบื่ออาหาร เป็นต้น และในระยะยาวก็จะกระทบต่อระบบการผลิตภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้เกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น เจ็บป่วยบ่อยขึ้น
- ซ่อมแซมร่างกาย เมื่ออายุเพิ่มขึ้นร่างกายต้องพึ่งพากล้ามเนื้อในการเคลื่อนไหวมากขึ้น
“ โปรตีนจึงสำคัญต่อการสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมกล้ามเนื้อ”
ถ้าผู้สูงวัยได้รับไม่เพียงพออย่างต่อเนื่องจะทำให้ร่างกายจะไม่สามารถรักษาบาดแผล ซ่อมแซมตัวเองได้ เกิดแผลเรื้อรังหายช้า
ดังนั้น ผู้สูงวัยจำเป็นต้องกินโปรตีนในปริมาณที่เพียงพอ เพื่อรักษาความแข็งแรงและชะลอความเสื่อมของร่างกาย โดยทั่วไปผู้สูงวัยมีความต้องการปริมาณโปรตีนต่อวันแตกต่างกันตามเพศ, อายุ, น้ำหนัก และกิจกรรมที่ทำในแต่ละวัน
จากคำแนะนำทางด้านโภชนาการ
“ผู้สูงวัยควรได้รับโปรตีนประมาณ 1.0 – 1.2 กรัม / น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม”
เช่น หากน้ำหนัก 50 กก. ร่างกายจะต้องการโปรตีนประมาณ 50 – 60 กรัมต่อวัน
ตัวอย่างอาหารอุดมโปรตีนในปริมาณ 50 กรัม เช่น นมจืดพร่องมันเนย 2 แก้ว + เนื้อ ปลา 10 ช้อนโต๊ะ, นมจืด 1 แก้ว + เนื้อ ปลา 5 ช้อนโต๊ะ+ อกไก่ 5 ช้อนโต๊ะ + ไข่ไก่ 1 ฟอง หรือ นมจืด 1 แก้ว + เนื้อปลา 12 ช้อนโต๊ะ เป็นต้น
ดังนั้น ผู้สูงวัยควรกินเนื้อสัตว์ที่มีไขมันต่ำให้ได้ 8-10 ช้อนโต๊ะต่อวัน กินปลาให้ได้ 2 ครั้งต่อสัปดาห์ จำกัดปริมาณไข่ไก่เกินไม่เกิน 3-4 ฟองต่อสัปดาห์ และควรดื่มนมไขมันต่ำ นมพร่องมันเนย หรือนมที่มีเวย์โปรตีน ซึ่งเป็นมีแคลเซียมและโปรตีนคุณภาพที่ย่อยง่าย ดูดซึมง่าย ร่างกายผู้สูงวัยสามารถนำพลังงานไปใช้ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ที่มาของบทความ: #เนสท์เล่คนไทยแข็งแรง
รูปประกอบจาก: https://www.freepik.com