รับมือกับภาวะช่องคลอดแห้งในสาวสูงวัย

ช่องคลอดแห้งเป็นปัญหาในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะกลุ่มวัยผู้ใหญ่ขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ เจอได้บ่อย ร้อยละ10-40 ของผู้หญิงทุกกลุ่มทุกวัย ในหญิงวัยเกิน 50 เมื่อเจอ ช่องคลอดแห้งจึงเป็นเรื่องที่ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา

อัพเดดรับมือกับภาวะช่องคลอดแห้งในสาวสูงวัย

โดย พญ.ชัญวลี ศรีสุโข (chanwalee@srisukho.com)

ช่องคลอดแห้งเป็นปัญหาในชีวิตประจำวัน ที่ใคร ๆไม่ค่อยเอ่ยถึง เจอได้บ่อย ร้อยละ10-40 ของผู้หญิงทุกกลุ่มทุกวัย ในหญิงวัยเกิน 50 ขอเรียกว่าสาวสูงวัย พบได้เกินร้อยละ 50 

แต่ที่มาพบแพทย์เพื่อรักษามีเพียงร้อยละ 10-20 ด้วยความเชื่อที่ผิดว่า เป็นเรื่องของความเสื่อม แม้ ส่งผลทำให้เจ็บแสบตอนมีเพศสัมพันธ์ ไม่สามารถถึงจุดสุดยอด  มีเลือดออกเมื่อมีการเสียดสี ทำให้ไม่สุขสบาย มีอาการเจ็บแสบคันช่องคลอดและรูปัสสาวะ ตกขาว ปัสสาวะบ่อย เจ็บปวดเวลาปัสสาวะ มีกระเพาะปัสสาวะอักเสบเรื้อรัง จนบางคนปฏิเสธเพศสัมพันธ์ก็ตาม

ขอเรียนว่า ช่องคลอดแห้งเป็นเรื่องที่ควรพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา ไม่ใช่เรื่องน่าอายและรักษาหายได้ค่ะ
สาเหตุของช่องคลอดแห้งในสาวสว. เป็นเพราะ ขาดฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจนที่สร้างจากรังไข่สองข้าง ซึ่งมีหน้าที่ทำให้เยื่อบุช่องคลอดหนาย่น ยืดหยุ่นได้ สร้างน้ำหล่อลื่น เมื่อขาดฮอร์โมนนี้ เยื่อบุช่องคลอดจะบาง แห้ง ฝ่อ สร้างน้ำหล่อลื่นไม่เพียงพอ ภาวะนี้พบได้บ่อยในช่วงวัยทอง ผ่าตัดเอารังไข่ออกทั้งสองข้าง รักษามะเร็งอวัยวะสืบพันธ์สตรีด้วยสารเคมีบำบัด หรือรังสีรักษา ซึ่งจะทำลายรังไข่ทั้งสองข้าง

อัพเดดการรับมือกับภาวะช่องคลอดแห้งในสาวสว.

  1. ควรดูแลสุขภาพกาย ไม่ให้ผอมหรืออ้วนเกินไป ดูแลสุขภาพจิต มีวิธีรับมือกับความเครียด เพราะมีผลกับฮอร์โมนเพศหญิง มีส่วนเกี่ยวข้องกับช่องคลอดแห้งได้
  2. ควรรับประทานอาหารให้ครบหมู่ ไม่ควรควบคุมอาหารไขมันมากจนเกินไป ควรรับประทานไข่ นม ไขมันจากปลา ถั่ว เป็นประจำ โดยเฉพาะไข่ให้รับประทานทั้งไข่แดงไข่ขาว ปัจจุบันไม่เชื่อว่าทำให้ไขมันในเลือดสูงอีกต่อไป
  3. ไม่ควรทำความสะอาดช่องคลอดบ่อยครั้ง ไม่ควรล้างช่องคลอดทุกครั้งที่ปัสสาวะ ไม่ว่าล้างด้วยน้ำเปล่าหรือสบู่ เพราะจะทำให้ช่องคลอดแห้ง ส่งผลให้อาการเจ็บแสบร้อนเป็นมากขึ้น
  4. ควรออกกำลังกายเป็นประจำ หัวใจปอดแข็งแรง เลือดไหลเวียนได้ดี ลดอาการช่องคลอดแห้ง
  5. หมั่นออกกำลังกายกล้ามเนื้ออุ้งเชิงกราน ด้วยการขมิบ รวมถึงควรมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ จะลดอาการช่องคลอดแห้ง
  6. เลือกใช้สารหล่อลื่น (Vaginal lubricants)ควรใช้ผลิตภัณฑ์ที่ผลิต แบบน้ำหรือซิลิโคน ใช้เฉพาะเวลามีเพศสัมพันธ์ เมื่อเสร็จกิจก็ล้างออกง่ายด้วยน้ำเปล่า ไม่ควรใช้ผลิตภัณฑ์ในครัว เพราะมีประสิทธิภาพไม่เทียบเท่าและยังอาจเกิดผลข้างเคียงเช่นวาสลีน น้ำมันพืช เบบี้ออยล์ เพราะอาจตกค้างภายใน ทำให้โพรงมดลูกอักเสบ  หรือหากใช้ร่วมกับถุงยางอนามัย อาจทำให้แตกรั่วซึม ตัวอย่างของสารหล่อลื่นได้แก่ Durex play, K-Y Gel, Nuru , Boots silky lubricant, For fun, Hej! Signature, Elegance Women’s Lubricant เป็นต้น
  7. เลือกใช้สารให้ความชุ่มชื้น (Vaginal moisturizers)ในรูปของครีม และยาเหน็บ ควรใช้เป็นประจำอาทิตย์ละ 3 ครั้ง ควรอ่านฉลากให้ดีว่าไม่ใช่สารหล่อลื่น ไม่ควรใช้โลชั่นที่ใช้กับผิวและมือ เพราะอาจจะเกิดความระคายเคืองช่องคลอดได้ มีจำหน่ายหลายยี่ห้อ เช่น  Replens, Regelle ,Vagisil Moisturizer, Feminease, Moist Again, K-Y Liquibeads
  8. ใช้ฮอร์โมนเพศหญิงเอสโทรเจน หากใช้สารหล่อลื่นและสารชุ่มชื้นแล้วช่องคลอดแห้งไม่ดีขึ้นควรปรึกษาแพทย์ การใช้ฮอร์โมนเอสโทรเจนมีข้อห้ามในโรคเส้นเลือดอุดตัน เป็นมะเร็งหรือมีความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านมฯลฯ  มีทั้งชนิดฉีด กิน ทา สอดช่องคลอด บางชนิดผสมโปรไบโอติก(จุลินทรีย์แลกโตแบซิลลัส) ด้วย 
  9.  ใช้ฮอร์โมนโปรเจสตินชนิดกิน เหน็บ(Estring,Vagifem, Imvexxy) ฮอร์โมนเพศชายดีเอชอีเอ(dehydroepiandrosterone)หรือ ยา Ospemifeneกรณีมีข้อห้ามในการใช้เอสโทรเจน
  10. ใช้เลเซอร์ช่องคลอด(Laser or radiofrequency devices) เป็นการรักษาสมัยใหม่ช่วยฟื้นฟูเยื่อบุช่องคลอด ให้หนาตัว เพิ่มน้ำหล่อลื่น แต่ยังไม่ได้รับการรับรองจาก องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกา(FDA)ในการรักษาช่องคลอดแห้ง อย่างไรก็ตาม สมาคมนรีเวชและทางเดินปัสสาวะของสหรัฐอเมริกาได้ออกประกาศ ใน คศ. 2020 ว่าเลเซอร์ช่องคลอดรักษาช่องคลอดแห้งได้ผล แต่ยังไม่ทราบข้อมูลระยะยาวในด้านประสิทธิภาพและความปลอดภัย
  11. วิตามินดี วิตามินอี โปรไบโอติก เชื่อว่าได้ผล แต่ต้องการงานวิจัยยืนยันเพื่มเติม
  12. กายภาพบำบัด ถ่างช่องคลอด(Pelvic physical therapy)หรือผ่าตัดรักษา ในกรณีที่เกิดช่องคลอดตีบตัน การรักษาแบบอื่น ๆมีข้อห้าม หรือรักษาแบบอื่น ๆแล้วไม่ได้ผล

References : 

  1. Management of symptomatic vulvovaginal atrophy: 2013 position statement of The North American Menopause Society. Menopause 2013; 20:888.
  2. Wiggins DL, Dizon DS. Dyspareunia and vaginal dryness. SRM 2008; 6:18.
  3. Strandberg KL, Peterson ML, Lin YC, et al. Glycerol monolaurate inhibits Candida and Gardnerella vaginalis in vitro and in vivo but not Lactobacillus. Antimicrob Agents Chemother 2010; 54:597.
  4. Mitchell CM, Reed SD, Diem S, et al. Efficacy of Vaginal Estradiol or Vaginal Moisturizer vs Placebo for Treating Postmenopausal Vulvovaginal Symptoms: A Randomized Clinical Trial. JAMA Intern Med 2018; 178:681.
  5. Diem SJ, Guthrie KA, Mitchell CM, et al. Effects of vaginal estradiol tablets and moisturizer on menopause-specific quality of life and mood in healthy postmenopausal women with vaginal symptoms: a randomized clinical trial. Menopause 2018; 25:1086.
  6. Yildirim B, Kaleli B, Düzcan E, Topuz O. The effects of postmenopausal Vitamin D treatment on vaginal atrophy. Maturitas 2004; 49:334.
  7. Muhleisen AL, Herbst-Kralovetz MM. Menopause and the vaginal microbiome. Maturitas 2016; 91:42.
  8. https://www.freepik.com/

Categories

บทความล่าสุด

Tags

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • เปิดใช้งานตลอด

บันทึกการตั้งค่า